วิถีแห่งเจ้าสำนัก

ผมเป็นพวกมีความสุขกับการได้เข้าใจตัวเอง คือย่ิงค้นหาว่าตนเองชอบทำอะไร ควรทำอะไร และวางแผนร้อยแปดให้ได้ดั่งใจ – แล้วมีความสุข

ในช่วงหลายปีมานี้ จึงได้บันทึกเกี่ยวกับการเติบโตของชีวิตอยู่บ่อยครั้ง (ป้ายคำ: วิเคราะห์ตนเอง) พบว่า การวางแผนและเลือกวิถีอาชีพ+วิถีชีวิต ที่คนทัวไปน่าจะทำได้ตั้งแต่สมัยเรียน ผมเองเพิ่งมาชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีนี้เอง

ขอตั้งชื่อวิถีชีวิตนี้ว่า วิถีแห่งเจ้าสำนัก

แม้ไม่ลุ่มลึก และซ้าย อย่าง ท่านจ๋ง , ไม่ตระหนักในทุน และการขาย อย่าง ท่านพัช , ผมเองก็ไม่อาจปฏิเสธว่า วิถีชีวิตที่ผมเลือกนี้ เอียงซ้ายนิดๆ และต้องหาเงินหน่อยๆ ผมเลือกที่จะมีชีวิตแบบศิลปินตามใจฉัน กับมีวินัยและบ้างาน (อย่างที่เคยบันทึกว่า ผมเป็นพวกทำงานตลอดเวลา พักผ่อนตลอดเวลา) มีอุดมคติสวยหรู (เช่น ไม่ยุ่งกับการทุจริต) แต่ก็ยังรับใช้อำนาจทั้งหลาย (เงินของการคอรัปชั่นต้องมาถึงผมซักทางหนึ่ง – อาจจะอยู่ในรถไฟฟ้า บันไดเลื่อน ถนน ฯลฯ ที่ผมใช้อยู่ หรือผมเองก็ได้เงินเดือน จากการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับคนที่ไม่โปร่งใสอยู่บ้าง)

ทรรศนะต่างๆ ของผม ก่อนที่จะออกแบบวิถีชีวิต

1. องค์กรควรมีขนาดเล็ก

ผมคิดว่า องค์กรที่มีขนาดใหญ่และมีอำนาจนั้นมีข้อเสียหลายด้าน เชื่องช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และรั่วไหล ผมจึงคิดว่า รัฐควรมีขนาดเล็ก บริษัทควรมีขนาดเล็ก และแม้แต่บุคคลเอง ก็ควรจะครอบครองสิ่งจำเป็นและสิ่งฟุ่มเฟือยไว้ไม่มากนัก

(หากชีวิตไม่ต้องการสิ่งฟุ่มเฟือย ผมว่าพระพุทธเจ้าออกแบบ “อัฐบริขาร” มาชัดเจนแล้ว นั่นคือ วัตถุที่จำเป็นของชีวิต มีแค่ 8 อย่างเท่านั้นเอง – ผมยังรักในกิเลสและชีวิตฆราวาสอยู่ ผมเลยบอกว่า ผมยังต้องมีสิ่งฟุ่มเฟือย จะเห็นว่า ผมไม่ใช้คำว่า พอเพียง เพราะคำว่าพอเพียงนั้นถูกคนไทยทำให้ไม่มีนิยาม ผมขอเรียกสิ่งที่เกินอัฐบริขารว่าฟุ่มเฟือยเลยดีกว่า)

ผมเห็นว่า องค์กรขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายจำนวนมากจะไปที่ “การจัดการ/บริหาร/บัญชี” มากกว่า “การสร้างสรรค์” และการบริหารบริษัทใหญ่นั้นเลี่ยงการไร้น้ำใจได้ยาก ต่อให้ผมเป็นผู้บริหาร/เจ้าของบิ๊กซี ผมก็ต้องซื้อของจากบริษัทที่ราคาถูก ที่กดขี่แรงงาน สร้างมลภาวะ ฯลฯ เพราะตัวเลขชี้วัดในระบบทุนนั้นมีจำกัด

หรือแม้แต่รัฐ กองทัพ มวลชน สถาบัน ฯลฯ ผมเห็นว่าความใหญ่โตนั้นสร้างผลเสียได้มาก และการจะรักษาความใหญ่โตนั้น จะเหลือแค่เรื่องตื้นเขินร่วมกันไม่กี่ข้อ ผสมกับการโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างภาพเพ้อเจ้อของฝ่ายตรงข้าม/คู่แข่ง

ทรรศนะรังเกียจ “การจัดการ/การโฆษณาชวนเชื่อ/บัญชี” ชื่นชม “การสร้างสรรค์/ประสิทธิภาพ/อิสรชน” นั้น ผมวิเคราะห์ว่า สงสัยเป็นเพราะผมเรียนวิศวะ (ซึ่งเรียนไปโดดไป) และไม่มีโอกาสได้เรียน MBA เหมือนใครๆ เค้านั่นเอง 😛

2. เงิน, งาน, ความสุข เมื่อแลกเปลี่ยนกันจะสูญเสียบางส่วน

หากเราทำงานได้เงิน นำเงินไปซื้อความสุข เราจะเสีย “ค่าธรรมเนียม” บางอย่าง เช่น ภาษี, ความรอบคอบในการตัดสินใจซื้อความสุข (…ซื้อหน่อยน่า ทำงานหนักมาทั้งเดือนนะ!…) ฯลฯ ผมจึงพยายามออกแบบชีวิตด้วยเงื่อนไขแรกว่า ต้องได้ทำงานแล้วมีความสุขก่อน

และการใช้เงินเป็นศูนย์กลางระหว่างงานและความสุข จะทำให้เราต้องเสียภาษี ซึ่งผมคิดว่า การเสียภาษีมาก เป็นการบ่อนทำลายสังคมอย่างหนึ่ง (เพราะทำให้รัฐมีขนาดใหญ่ สร้้างแรงจูงใจให้คอรัปชั่นสูง) ดังนั้น ผมจึงพยายามออกแบบวิถึชีวิตด้วยเงื่อนไขอีกข้อว่า เรามีทางไหนมั้ย ที่จะทำงาน มีความสุข ได้เงินไม่มากนัก แต่ได้ผลตอบแทน (หรือความสุข) ด้านอื่นมากกว่า นั่นคือ ได้ตัวเงินน้อย แต่ได้ปัจจัยพื้นฐานครบถ้วน และได้ความฟุ่มเฟือยแถม

นอกจากนั้น ความสุขที่เหนือระดับการปรนเปรอตนเอง คือการได้ทำเพื่อสังคม, ได้รับการยอมรับ และภาคภูมิใจในตนเอง (อย่างที่ ท่านมาสโลว์กล่าวไว้ ) ซึ่งหากเราต้องใช้เงินซื้อ มันจะมีราคาแพงมาก ถ้าไป “ทำงานแลก” จะมีราคาคุ้มค่ากว่า

และความสุขในระดับที่เหนือกว่าที่มาสโลว์กล่าวไว้ คือความสุข 10 ระดับของพระพุทธเจ้า – ย่ิงไม่อาจใช้เงินซื้อมาได้เลย

นั่นเลยกลายเป็นว่า เงิน จำเป็นสำหรับปัจจัยพื้นฐาน กับของฟุ่มเฟือยบางอย่าง นอกนั้นไม่ควรใช้เงินซื้อ

3. โลกของ Opensource มีตัวอย่างองค์กรในอุดมคติจำนวนมาก

ผมขอยกตัวอย่างท่านศาสดา Matt องค์กร Automattic และ WordPress

น้อง Matt เพิ่งจะเบญจเพสเมื่อต้นปี แต่ได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากคือ WordPress ซึ่งเป็นระบบทำเว็บแบบง่ายโคตร โดยทำให้ WordPress เป็น Opensource ที่ใครจะเอาไปใช้ ไปพัฒนาต่อ อย่างไรก็ได้ และสร้างบริษัท Automattic ที่รับให้คำปรึกษาและทำเว็บด้วย WordPress อีกที

ข้อเจ๋งก็คือ บริษัทของเค้าประกอบด้วยทีมงานจากทุกมุมโลก ซึ่งหลักๆ ก็คือ คนที่สนใจในโครงการของเค้า และมาเข้าร่วมสม่ำเสมอ จนเค้าดึงตัวมาเป็นพนักงาน นั่นหมายความว่า บริษัทของเค้าไม่ต้องมี HR หรือกระบวนการหาพนักงาน

พนักงานทุกคน ได้ดูแลโปรเจ็คของตนเองเต็มๆ บางอันผมดูแล้วก็ธรรมดา แต่พอเป็น “เครือข่ายของทีมงาน WordPress” ก็ทำให้มีอาสาสมัครเข้าร่วมมาก และพัฒนาจนดีได้ในที่สุด ซึ่งแปลว่า สิ่งสำคัญที่บริษัทของ Matt ให้นั้นไม่ใช่แค่เงินเดือน แต่เป็นเครดิต ซึ่งนำมาทั้ง Resource และ แรงบันดาลใจ (ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ว่า แรงบันดาลใจนั้น สำคัญกว่าจินตนาการและความรู้) และความรู้หลายเรื่องนั้นอยู่ใน Internet และสังคม Opensource อยู่แล้ว นั่นคือ บริษัทของเค้าจึงไม่ต้องมีการ Training ที่เป็นค่าใช้จ่ายแบบบริษัททั่วไป แต่มีการสร้างทีมที่แทบไม่มีค่าใช้จ่าย ลองดูสไลด์ Virtual Collaboration จะพบว่า เป็นทีมที่สุดยอดมาก

นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า WordPress ยังออกแบบส่วนกลาง และให้คู่มือมาดีมาก ทำให้มีคนทำส่วนต่อเพิ่มอย่างละนิดละหน่อยให้เต็มไปหมด และเมื่อทุกคนทำ ทุกคนก็เอาไปใช้ได้หมด แปลว่า บริษัทของเค้า ไม่ต้องมีแผนก R&D

และ Concept ของเค้าที่ว่า จะไม่เอาเงินไปทำประชาสัมพันธ์ แต่จะเอาไปทำให้ผลิตภัณฑ์ดีที่สุดในโลก ทำให้บริษัทไม่ต้องมีแผนก PR และ Marketing อาศัยว่า Product ดี และบอกต่อกันอย่างเดียวเลย

และเมื่อเป็นองค์กรที่เล็กกระจ๋ิว และอยู่ข้ามโลกแบบนี้ ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องมีแผนกจัดซื้อ, สต็อก, จัดส่ง, ไอที, เอกสาร, ต้อนรับ, ตรวจประเมินภายใน ฯลฯ – โคตร lean เลย

ผมคิดว่า Matt คงไม่รวยนัก ยิ่งถ้านับจำนวนเงินจริงๆ คงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าติดตามบล็อกของเค้า จะพบว่า เค้าได้บินไปสังสรรค์ ปาตี้ พบปะและพัฒนาตนเอง ในแต่ละประเทศทั่วโลกเต็มไปหมด มีผู้คนที่ชื่นชม และอำนวยความสะดวกให้จำนวนมากเวลาที่เค้าไปในแต่ละประเทศ ซึ่งผมเห็นว่า มากกว่าที่เศรษฐีระดับโลกซักคนจะสามารถทำได้เสียอีก

นั่นคือ มันมีโมเดลที่สามารถสร้างบริษัทที่เล็ก แต่ประสิทธิภาพสูง, สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ และมีประโยชน์ต่อโลก โดยที่ทุกคนในบริษัท ต่างแค่เพียง “ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด” เท่านั้นเอง


ผมเลยพยายามคิดว่า แล้วมันมีอยู่ในอดีตหรือเปล่าหว่า? ไอ้โมเดลแบบนี้ จนกระทั่งพบว่า มันก็คล้ายๆ กับเจ้าสำนัก นั่นเอง

วิถีแห่งเจ้าสำนัก

  1. เร่ิมจากสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ ผลิตภัณฑ์ที่สุดยอด ไม่ว่าจะเป็นยอดวิชา, ความรู้, คำปรึกษา
  2. รักษาองค์กรให้เล็ก ใช้การบริหารจัดการน้อย ซึ่งหากเริ่มด้วย “ความชอบ” หรือ “ศรัทธา” แล้ว ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น แต่ในอดีตก็คงเห็นข้อเสียที่ว่า การสืบทอดมักจะมีปัญหา กรณีนี้องค์กร Opensource ออกแบบมาดีมาก คือ มีปัญหาก็แยกไปทำต่อได้เลย (เหมือนดาวน์โหลดวิทยายุทธท่านเจ้าสำนัก แล้วไปสร้างสำนักใหม่ได้ทันที) ส่วนพระพุทธเจ้าใช้วิธี “มีปัญหาก็ยึดพระธรรม ไม่ให้ยึดบุคคล” ซึ่งทำให้ผมคิดว่า หากไม่สามารถกลั่นกรองทุกอย่างเป็นคัมภีร์ระดับนั้นได้ บริษัทก็ควรเกิดและดับไปตามเวลาต่างหาก จะสร้างองค์กรอมตะไปทำไม?
  3. ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจให้น้อย ไม่รับใช้รัฐมากนัก ไม่แสวงหาลาภยศมากนัก เพราะ “คนรวยก็มีปัญหาของคนรวย”, “ข้าราชการก็มีปัญหากับโครงสร้างเสมอ” ฯลฯ เมื่อไม่ต้องรับ input แย่ๆ จากหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีปัญหา ก็สามารถทำให้เจ้าสำนักสามารถทุ่มเทให้กับยอดวิชาของตนเองได้เต็มที่
  4. ผลตอบแทนที่เจ้าสำนักได้ อาจเป็นตัวเงินไม่มากนัก แต่ปัจจัยพื้นฐาน และความฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ก็หามาได้ตามความสามารถ
  5. ทำให้เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะโดยตรงกับผู้คนโดยรอบ หรือสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนกระทั่งมีคนบอกต่อ และมาเชื้อเชิญร่วมสังสรรค์กันเป็นครั้งคราเพราะแม้เจ้าสำนัก ไม่ควรจะแสวงหาลาภยศ มากนัก แต่ผมว่าโดยจริต ก็ยังต้องแสวงหา สรรเสริญและสุข อยู่ดี

ปัจจุบันวิถีแห่งเจ้าสำนัก ผมเห็นว่าต้องเป็นบริษัทเอกชนขนาดเล็ก เพราะอิสระสูงกว่าองค์กรอื่นๆ แม้จะมีปัญหากับระบบแย่ๆ อย่างสรรพากรกับประกันสังคมบ้าง แต่ก็ยังมีพลังที่จะทำอะไรต่อ

มิอะไรมิเช่นนั้นก็ต้องนอกระบบไปเลย แล้วให้ในระบบคงความเป็นที่ปรึกษาไว้ แต่เงินที่ใช้ผลักดันทั้งหมดอยู่นอกระบบฯลฯ

เทียบแล้วเหมือนชีวิตแห่งเจ้าสำนักของกระผมก็เหมือนเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ได้แต่ฝึกวิทยายุทธอยู่ในป่า ได้รับคำเชิญมาไถนาในเมืองบ้างเป็นครั้งคราว ยังต้องเดินทางอีกไกลนัก

เหมือนที่บอกน้องๆ เด็กแม่ฮ่องสอนในค่ายไอทีวัลเลย์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ว่า

“จงเลือกวิถีชีวิตที่ยากลำบาก และจงทุ่มเทสายเลือดทั้งสิ้นลงในผลงาน”

ขอคารวะ 1 จอก!!

🙂

เพิ่มเติม 24 มิ.ย. 2552: “ทุ่มเทสายเลือดทั้งสิ้นลงในผลงาน” นำมาจากบันทึก เงื่อนไขลูกผู้ชาย

ความเห็น

ความคิดเห็น

  1. mk พูดว่า:

    สำหรับข้อ 3 อันบนนั้น มันจะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านที่พูดเรื่องนี้ตรงๆ ชื่อว่า innovation happens elsewhere เดี๋ยวไปขุดหาก่อน ถ้าเจอจะเอาไปให้ครับ

  2. Warong พูดว่า:

    เป็นโมเดลสำหรับการอยู่ในโลกธุรกิจได้โดยไม่ต้องเป็นปีศาจและไม่เลอะเลือนงมงาย

    น่าสนใจจริงๆ

  3. mokin พูดว่า:

    เอาไปหนึ่ง จอก ฮาๆ

  4. basicsharp พูดว่า:

    “ศาสดา Matt องค์กร Automattic และ WordPress” ฮาาา

    จะว่าไปตัว WordPress ก็นานแล้วนะครับ
    แต่ยังคงความเป็น opensource อยู่ได้
    ไม่เหมือนหลายๆเจ้า ที่เข้าสู่ด้านมืดไปแล้ว 🙂

  5. patchara พูดว่า:

    ทำงานนนนนน (แก้แค้นจ้า) 😛

  6. patchara พูดว่า:

    เพิ่งอ่านครับ ดีๆ 🙂
    ว่าแต่อยากจะเป็น เจ้าสำนักกระทรวงศึกษาหรือว่าเจ้าสำนัก ICT

  7. arin พูดว่า:

    ขอคาระวะอีกหนึ่งจอก ดีดีค่ะ

  8. pY พูดว่า:

    -!
    ชอบเฉพาะ
    ตอน
    หนึ่งจอก
    หุ

  9. joezine พูดว่า:

    คารวะพี่เม่น 1 จอก

  10. โจน พูดว่า:

    แนะนำให้อ่านคัมภีร์เต้าเต๋อจิง สำหรับสุดยอดเคล็ดวิชาเจ้าสำนักครับ

    จริงๆนะเออ

  11. tousna พูดว่า:

    คารวะ 1 จอก
    ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

  12. iKaRUZ พูดว่า:

    ขอคารวะท่านเจ้าสำนัก 1 จอก

    อ่านแล้วรู้สึกได้ Idea อะไรเพิ่มมาพอควร

  13. PHz พูดว่า:

    1 จอก!!

    นับถือ นับถือ…

  14. yordja พูดว่า:

    ชอบมากครับ
    ขอคารวะด้วย 1 เมา

  15. เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ พูดว่า:

    นับถือๆ

    “ท่านเจ้าสำนัก iMenn”

    ข้าน้อยขอฝากตัวด้วย

  16. frozenzombie พูดว่า:

    เรื่องนี้ถูกจริตผมเป็นอย่างยิ่ง…

    โปรดรับการคำนับ 1 จอก…

  17. mangwan พูดว่า:

    คารวะ 1 จอกครับ
    ชอบแนวความคิดที่เล่ามา มากๆ ครับ
    ปัจจุบัน ผมก็พยายามทำงานกับบริษัทขนาดเล็กๆ เหมือนกัน
    ต่อไป หากผมได้มีโอกาส ได้ก่อร่างสร้าง สำนักของผมขึ้นมาบ้าง
    จะเอาแนวคิดพวกนี้ไปใช้นะครับ

  18. OHM4U พูดว่า:

    ชอบมากครับ …. คาราวะด้วย..

  19. จ๊อบน่ารัก พูดว่า:

    ข้อคิดๆๆมีไห้อ่าน กับ การงานการงาน เขียนดีมากเลยนะครับ

  20. ทอม พูดว่า:

    วันนีผมโชคดีมากที่ได้เข้ามาอ่านบล็อกของคุณเม่นครับ 🙂

  21. Pingback: Just another blog