วันก่อนคุณโอม – ผู้ประสานงานโครงการไอทีวัลเลย์ จ. แม่ฮ่องสอน – ได้ให้เกียรติมากินขนมที่ร้าน Sweet and Mellow ที่ปาย และสัมภาษณ์กันสั้นๆ เกี่ยวกับโครงการไอทีวัลเลย์ที่ผมช่วยดูแลหลักสูตรกราฟฟิคโอเพนซอร์สอยู่ เพื่อออกรายการวิทยุ แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ FM 104 MHZ
นำมาบันทึกไว้ดูต่างหน้า เนื่องจากช่วงนี้งานเยอะเหลือเกิน เขียนบล็อกไม่ค่อยไหว 🙂
สัมภาษณ์ คุณจักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ (อาจารย์เม่น) ผู้ร่างหลักสูตรคอมพิวเตอร์กราฟฟิก โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเลย์
รายละเอียดอยู่ที่ เว็บไอทีวัลเลย์
รายการวิทยุ แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ตอนที่ 9 คลื่น FM 104 MHZ วันเสาร์ที่ 7-8-53 เวลา19.30 น.-20.00 น.
สัมภาษณ์ คุณจักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ (อาจารย์เม่น)
เจ้าของบริษัทไทเกอร์ไอเดีย(ออกแบบ และพัฒนาเว็บไซต์) ผู้ร่างหลักสูตรและ เป็นวิทยากรอบรมด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกฟังเสียงได้ที่นี่ http://bit.ly/a972kL
Q – อาจารย์เม่นมาร่วมงานกับโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ได้อย่างไร
A – ประมาณ 3-4 ปีก่อน ได้ร่วมงานกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยทั่วไป NECTEC ก็มีส่วนให้งบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการและจัดการแข่งขันเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยหลายๆครั้ง เมื่อมีโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ก็ได้รับเกียรติให้มาช่วยร่างหลักสูตรคอมพิวเตอร์กราฟฟิก สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ( ม.4 ถึง ม.6 ) จึงได้คิดว่าจะวางหลักสูตรอย่างไรให้เด็กที่เรียนจบ ม.6 แล้ว หากไม่เรียนต่อ ก็สามารถปฏิบัติงานได้ จึงออกแบบโดยคือ ม.4 และ ม.5 ให้เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก และเมื่อถึง ม.6 จึงให้มีการทำโครงงาน โดยจะมีที่ปรึกษามาช่วยดูแลโครงงานของนักเรียนด้วยทั้งจากภาคเอกชน และนักวิจัยจาก NECTEC
Q – ปัจจุบันความคืบหน้าของการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ในโครงการไอทีวัลเล่ย์ เป็นอย่างไรบ้าง
A – เนื้อหาการสอนปัจจุบันจะแบ่งเป็นระดับชั้น
ม.4 มีการเรียนการออกแบบสิ่งพิมพ์ ด้วยนโยบายของ NECTEC สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ระบบเปิด (Open Source) เพื่อให้สามารถใช้ ซอฟต์แวร์ได้ฟรีและไม่ผิดลิขสิทธิ์หากไม่ได้ซื้อ ซึ่งการละเมิดซอฟต์แวร์ถือเป็นปัญหาใหญ่มากในประเทศไทย การเรียนการสอนจึงใช้ โปรแกรม Gimp (ใช้สำหรับตกแต่งภาพลักษณะคล้ายๆ Adobe Photo Shop) และ โปรแกรม Inkscape (ใช้สำหรับวาดรูป ลาดเส้น ลงสีสัน ลักษณะคล้าย Adobe Illustrator) ซึ่งทั้งสองเป็นโปรแกรมแจกฟรี หากซื้อโปรแกรมลิขสิทธิ์ทั้ง Photoshop และ Illustrator ราคารวมกันประมาณ 5 หมื่นบาท หากใช้ซอฟต์แวร์ Open Source ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลง และไม่ผิดกฏหมาย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี
สำหรับ เนื้อหาในชั้น ม.5 ควรจะใช้สื่อหลากหลายขึ้น มีการตัดต่อวิดีโอ และ ทำภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ (3D Animation) และ การออกแบบเว็บไซต์ สำหรับเว็บไซต์นั้น หากออกแบบและสื่อสารได้ดี ก็จะมีมูลค่าเยอะมาก
เมื่อถึงชั้น ม.6 ก็มีนำเสนอโครงงาน เช่น นักเรียนในโครงการบางคน นำองค์ความรู้ของวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือชนเผ่าต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่มีความรู้ มานำเสนอโดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก เช่น กะเหรี่ยง ลีซอ หรือ ไทใหญ่ โดยมีเนื้อหา เช่น การประกอบอาหาร ชุดประจำเผ่า ฯลฯ นำมาพัฒนาเป็น สิ่งพิมพ์ สื่อการเรียนรู้ เว็บไซต์ มีการออกแบบวิธีการนำเสนอ การถ่ายทำ การสัมภาษณ์คนภายในชุมชน เพื่อประกอบการทำโครงงาน ซึ่งบางอย่างก็ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการนำเสนอผ่านสื่อ
Q – ด้วยเป้าหมายหลักของโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ คือ สร้างคน สร้างงาน สร้างเครือข่าย คุณเม่นก็อยู่ทั้งในส่วนการสร้างคน และสร้างงาน อยากให้คุณเม่นช่วยแนะนำน้องๆที่เรียนในโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเลย์ เรื่องแนวทางการทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกในอนาคตด้วยครับ
A – งานทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมีหลากหลาย ทั้งการออกแบบสิ่งพิมพ์ ตัดต่อวิดีโอ และออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันก็มีวิชาชีพรองรับอยู่แล้ว นักเรียน ม.6 บางคนกำลังจะจบไปมีความรู้ด้านออกแบบสิ่งพิมพ์ ก็เทียบเท่ากับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจบใหม่เลยทีเดียว
ด้วยวิชาคอมพิวเตอร์กราฟฟิกนั้น จับต้องง่าย มองเห็นผลงาน ชิ้นงาน หากนักเรียนที่เรียนจบ ม.6 ในโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ไปแล้วไม่ได้เรียนต่อ ก็ยังสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหรือธุรกิจได้ เช่น ทำเมนูร้านอาหาร ใบปลิวที่พัก โรงแรม ฯลฯ เพราะปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ก็ต้องใช้สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ หรือ สื่อประสม Multimedia ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งความรู้นี้ก็สามารถใช้เป็นการเริ่มต้นวิชาชีพใช้ในชุมชนได้เลย
และหากนักเรียนต้องการศึกษาต่อ ก็มีสาขาวิชาในมหาวิทยาลัย รองรับอยู่ Computer Programming หรือ Web Programming หรือ จะเน้นไปทางศิลปะการออกแบบก็ได้ ซึ่งหาสนใจก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้
Q – ขอให้คุณเม่น ช่วยฝากทิ้งท้ายกับพี่น้องชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยครับ
A – สำหรับนักเรียน ม.6 ปีนี้ก็ได้ทำโครงงานแล้ว หากใครมีบุตรหลานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสนใจก็สามารถสอบถามเกี่ยวกับโครงการได้ ในอนาคตหากแม่ฮ่องสอนมีบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ความรู้ด้านนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
โดยส่วนตัวผมเอง ก็นำงานจากกรุงเทพมาทำที่ปาย ย้ายมาอยู่ที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนแล้ว เพื่อนๆ ผมมาเที่ยวหาก็บอกอิจฉาอยากมาอยู่ที่ปายเหมือนกัน
หากโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านไอทีมีคุณภาพมากขึ้น อนาคตแม่ฮ่องสอนก็สามารถเป็นศูนย์กลางด้านไอทีได้ เพราะแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าทำงาน อยู่แล้วมีความสุข
สำหรับนักเรียนหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หากต้องการคำปรึกษา ก็ยินดีเสมอ menn [at] imenn.com ครับ
แนบเอกสารบางส่วน เผื่อเป็นประโยชน์หากใครสนใจจะสร้างงานด้วยโปรแกรม Open Source ครับ
เอกสารเพิ่มเติม ดูที่ issuu.com ครับ
ขอบคุณครับ (มาเก็บความรู้้เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์) 😀
นอกเรื่องหน่อยครับ ที่แม่ฮ่องสอน ผมหมายถึงปาย ใช้อินเตอร์เน็ตเจ้าไหนครับ ความเร็วเป็นยังไง
สำหรับตัวผมเองนั้น จากที่ได้ตะลอนไปในหลาย ๆ ที่ในประเทศไทย สรุปเอาเองว่าสาเหตุที่ อินเตอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้งอาชีพที่ผมทำอยู่เนี่ย มันเติบโตช้าเนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ตเนี่ยล่ะครับ (บ้านแม่ผมอยู่อุทัยธานี ออกจากตัวจังหวัดมา 10 กิโลเมตร ไร้แล้วซึ่งอินเตอร์เน็ต)
ปายมีทั้ง TOT และ CAT ครับ มีความเร็วระดับธุรกิจด้วย (หลายพัน-หมื่นต่อเดือน ใช้คนละท่อกับตามบ้าน) นอกจากนั้นยังมี CAT 3G ด้วยครับ สัญญาณครอบคลุมทั่วปาย
เท่าที่อยู่มา 7-8 เดือน พบว่าเน็ทเร็วใช้ได้นะครับ ผมใช้เน็ท TOT ราคาถูก 3M ไม่กี่ร้อย ดู Youtube ลื่นก็พอใจแล้วครับ
นอกจากนั้น Nectec ยังได้ร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ติดตั้งระบบ WiMax ทั่วแม่ฮ่องสอนด้วยครับ (แต่ยังไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปใช้)
ตอบเร็วมาก ขอบคุณครับ
ที่ถามเพราะว่าเผื่อจะไปทำตัวเป็นประชาชนชาวปายจะได้ ทำใจไว้ครับ เพราะ 3BB เข้า cPanel ของ HostGator ได้ช้ามาก ๆ แล้วเป็นอุปสรรคกับผมอย่างแรงครับ
อยากแวะไปเที่ยวหาพี่เม่นที่ปายจัง แต่คงหน้าหนาวนู้นแหละ ^ ^
ขอคารวะคร๊าบ
รวมตัวกันไปเที่ยวปายกันมั่งไหมครับ ^ ^ เนื้อหาอัดแน่นจริงๆเว็บนี้ อ่านจนตาลาย ฮ่าๆ
ตอนขึ้นเขาพันโค้ง แฟนผมอ้วกครับ 5555
ปาย เป็นอีก หนึ่งแห่ง ที่ผมอยากไปเที่ยวที่สุด มีความโอกาสจะไปเที่ยว ไปเยี่ยมนะครับ พี่ Menn
สวัสดีครับ ยินดีครับที่ช่วยแนะนำดี ๆ