คุณ mk ได้กระตุ้นความอยากเขียนบันทึกไว้ตั้งแต่นานแสนนานสำหรับคนเขียนบล็อก แต่เพียงชั่วผีเสื้อกระพือปีกสำหรับคนเกียจคร้านและวุ่นโคตร ในเรื่องราวเมื่อคุณ mk และทีม SIU มาเยี่ยม iSchool ออฟฟิศกระผม
เรื่องที่ผมกล่าวว่า
พรหมลิขิตเป็น integration ของกรรม
และ
กรรมมันอินทิเกรตโว้ย
(นั่นคือ ไม่ใช่ทำชาตินี้ ไปเกิดผลชาติหน้า แต่มันอินทิเกรตตลอดเวลา ให้ผลตลอดเวลา)
ผมเคยบันทึกและพิสูจน์ไว้หยาบๆ หลายปีก่อนที่ ทรรศนะในเรื่องชะตากรรม ว่า หากเชื่อในเรื่องกรรม (action = reaction) และเชื่อในเรื่องภพชาติ ผลสุดท้ายเราจะเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต
และหากใช้ภาษาร่วมสมัย นั่นก็ย่อมเป็นเรื่องเดียวกับ “กฎของแรงดึงดูด” หรือ “Law of attraction”
ซึ่งเมื่อลองใคร่ครวญมากขึ้น ผมก็เริ่มรู้สึกว่า เออเหนอ สิ่งที่เราเจอทั้งหลาย เราเป็นคนดึงดูดมันมาทั้งนั้นนี่นา ในอดีตจนปัจจุบัน เราชอบ เราคิด พูด ทำ (action หรือ กรรม) ในเรื่องแบบไหน เราก็ดึงดูดสิ่งเหล่านั้น สะสมข้ามภพชาติมาเรื่อยๆ ในสมัยหนึ่งเราอาจจะเลือกที่จะลองเล่นดนตรี แล้วเราก็พบว่าเราใส่ใจกับมัน เราพยายามกับมัน เราก็เลยดึงดูดมัน ข้ามเวลาแสนนานต่อมา เราก็เลยมีแนวโน้มจะได้รู้จักกับดนตรีมากกว่าคนปกติ (ค่าเฉลี่ย) และไม่แน่หากเราทุ่มเทและอุทิศเพื่อดนตรีมากขึ้น ในอนาคตกันไกลโพ้น เราอาจจะเกิดมาแล้วเล่นดนตรีได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
ซึ่งทำให้ผมคิดว่า
แรงดึงดูด ก่อให้เกิดการอุบัติซ้ำ และกรรม ก่อให้เกิดพรหมลิขิต
การมีตัวแปร “ภพชาติ” เข้ามาเกี่ยว ทำให้เราตอบคำถามของไอสไตน์ได้ง่ายขึ้น ที่ว่า “พระเจ้าคงไม่ทอดลูกเต๋าหรอกเฟร้ย” (สิ่งที่เราพบนั้น เป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว?) ว่า จะเรียกว่าทอดลูกเต๋าก็ได้ ไม่ทอดก็ได้ ลองนึกว่า พระเจ้าทอดลูกเต๋าเป็นล้านๆ ครั้ง (ล้าน=10^6), เป็น Googol ครั้ง (googol=10^100), เป็นอสงไขยครั้ง (อสงไขย=10^140) … ก็ย่อมพบว่า การที่มันจะได้ผลลัพธ์เป็น 1 หรือ 2 หรือ 6 นั้นไม่สำคัญเลย เพราะเดี๋ยวมันก็เป็นอย่างอื่นอีก และเดี๋ยวมันก็อุบัติซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วน (วัฏสงสาร)
นั่นคือถ้าเราประพฤติตัวปกติมาหลายๆ ชาติ เราอาจจะได้พบกับดนตรีก็ได้ ไม่พบกับดนตรีก็ได้ เกลี่ยไปเกลี่ยมา แต่ถ้าเราเริ่ม “จริงจัง” กับดนตรี ก็เหมือนกับลูกเต๋าที่เริ่มบิ่น และเริ่ม “ออกซ้ำ” ซึ่งมันก็จะดึงดูดให้เราได้พบเจอกับดนตรีอีกมากว่าปกติ คราวนี้ ทอดลูกเต๋าเป็นล้านครั้ง กลับออกเลข 3 มากกว่าชาวบ้านเสียแล้ว และภพชาติต่างๆ กลับปรากฏ “ดนตรี” ในชีวิตเรา มากกว่าคนทั่วไปเสียแล้ว
ซึ่งเมื่อเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ก็ทำให้เราเริ่มเข้าใจต่อว่า “สิ่งทั้งหลายในชีวิตที่เกิดขึ้น เราเป็นคนตัดสินใจ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) ให้มันเกิดขึ้นทั้งนั้น” หากเราไม่ชอบดนตรี ไม่ฟังดนตรี ชีวิตในอนาคตก็มีแนวโน้มจะไม่ข้องเกี่ยวกับดนตรี และไม่ได้เกิดมาในประเทศที่คนเล่นดนตรี
ถ้าตรรกะนี้เข้าใจได้ง่าย เราก็ย่อมเข้าใจได้ว่า
1. ผมมาเกิดในประเทศที่ผู้คนดัดจริต เพราะผมเป็นคนดัดจริต (บ้างว่า “สฎษดก”)
ผมอยากให้คนอื่นทำดี ทำถูก แต่ผมไม่สนใจจะพัฒนาตนเอง ผมก็ย่อมมาอยู่ในประเทศที่ผู้คนมัวแต่สาดโคลนใส่กัน ผมใช้ซอฟแวร์ผิดกฎหมาย ไม่เคารพกฎจราจร ติดสินบนเจ้าพนักงาน ไม่ข้ามถนนบนทางม้าลาย ลอกข้อสอบ กินแรงเพื่อนร่วมงาน ไม่ใส่ใจงานที่ได้รับมอบหมาย โกงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อแสดงความมีอำนาจของตำแหน่ง ฯลฯ ผมก็ย่อมมาอยู่ในประเทศที่ข้าราชการคอรัปชั่น ผู้คนขโมยผลงานกัน อวดเอาหน้า โฆษณาล้างสมอง อิจฉาริษยาคนทำดีแต่เด่น นักการเมืองเลว ตำรวจบ้าอำนาจ ฯลฯ
ผมเป็นคน “เลือก” ให้สิ่งต่างๆ เกิดมาทั้งนั้น หรืออย่างน้อย ผมเป็นคน “เลือก” ที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เอง
คนที่พูดประเด็น “สฤษฎก” ได้ยอดเยี่ยมและคมคายคือคุณ mk ขอเชิญอ่าน The Main Problem of Thailand , คนชั้นกลาง และอื่นๆ ในบล็อกอัน aggressive นั้นแหละ ;P
2. ผมมาเกิดในประเทศศักดินา เพราะผมชอบทาสรับใช้
คนจบนอกหลายคน เมื่อต้องตอบคำถามว่าทำไมถึงเลือกกลับเมืองไทย มักจะมีวาระแอบแฝงจากคำพูด “ไม่มีที่ไหนสบายเหมือนเมืองไทย” ว่า “เมืองไทยมีชนชั้น มีคนใช้ มีเด็กเสิร์ฟ โว้ย” ซึ่งหมายความว่า ลึกๆ เราก็ชอบให้คนขับรถ/คนใช้/เด็กเสิร์ฟ มาหมอบกราบเรา มากกว่าที่จะเป็นแบบเด็กเสิร์ฟเมืองนอกที่ “กูเสิร์ฟมึง มึงก็ทิปกู มึงกูเท่ากันเว้ยยย”
เราดึงดูดการแบ่งแยกชนชั้น รุ่นพี่รุ่นน้อง เราเลยมาเกิดรวมกันที่เมืองไทย ที่ที่เราซื้อเบ๊นซ์เพราะมันแสดงถึง “อำนาจ” ซื้อไอโฟนเพราะมัน “สูงส่งกว่า” ผมสบายใจที่ขึ้นแทกซี่แล้วเค้านอบน้อมด้วย ไปร้านอาหารต่างจังหวัดแล้วผู้คนกุลีกุจอต้อนรับ ผมก็ย่อมมาเกิดร่วมกับ ดร. หยิ่งยะโส, พณฯ ท่านที่ชอบปิดถนนเล่น, ลูกหลานคนรวยที่มีสิทธิมากกว่า ยิงคนตายไม่ผิด ขับรถชนคนเล่นได้ ขับเครื่องบินหลวงเล่นได้ หรือใครต่อใครที่โกงชาติบ้านเมืองแล้วผู้คนยกย่องคารวะ ฯลฯ เพราะว่าเราก็รู้ว่า เราอยู่เหนือใครบางคนเสมอ และนั่นก็คือความยุติธรรมแห่งประเทศสยามของเรา
3. ผมมาเกิดเมืองไทย เพราะผมหลงใหลในภาษาไทย
เหมือนจะเขียนแต่ข้อเสีย เดี๋ยวท่านทั้งหลายจะกล่าว “ไม่พอใจ ก็อย่ามาอยู่เมืองไทยสิโว้ย” อย่ากล่าวเช่นนั้นเลย กระผมเข้าใจข้อจำกัดต่างๆ และเข้าใจวาสนาตนเองที่เลือกมาอยู่ที่นี่
เมื่อวิเคราะห์ตนเองไปเรื่อยๆ ผมก็พบว่า ผมเองชื่นชอบในบทกวีไม่น้อย และคิดต่อว่า หากใครซักคนจะชื่นชอบบทกวีอย่างสุดจิตสุดใจ เค้าควรจะต้องมาเกิดเป็นคนไทย เพราะภาษาไทยนั้นรุ่มรวยถ้อยคำอย่างยิ่ง คำด่าของเรามีมากมายนัก (ภาษาที่ด่าได้แค่คำว่า “ฟัก” นั้นชิดซ้าย) คำไวพจน์ (synonym) ของไทยนั้นมีมหาศาลจนใช้ไม่หมด เช่น คำที่แปลว่า “สวย”, “ดอกไม้”, “ผู้หญิง” ฯลฯ คำคล้องจองของเรา เพราะพริ้งยิ่งกว่าภาษาใด (ภาษาอื่นจะแต่งบทกวีอย่าง “นกน้อยนอนแนบน้ำ ในนา” อย่างท่านศรีปราชญ์ – เจ้าของถ้อยคำ อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้นเดียวกัน – ได้ละหรือ?) และจะมีภาษาใดกำกวมได้ยิ่งกว่าภาษาไทย? ซึ่งผู้คน จะเอาถ้อยคำมาตีประเด็นอย่างไรก็ได้ เหมาะกับการเขียนกวียิ่งนัก (การยกย่องในความกำกวมนี้ ทำให้ผมมีปัญหากับการสอบ Writing ของ TOEFL พอสมควร จนมารู้ภายหลังว่าภาษาอื่นเค้าไม่กำกวมโว้ย จึงพอจะเขียน Writing ได้บ้าง)
4. ผมมาเกิดเมืองไทย เพราะผมชอบ “กลิ่นฝน” แต่ไม่ได้กลิ่น “หิมะ”
ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด โตมากับบ้านที่มีตุ่มรองน้ำฝน ชอบกลิ่นฝน ที่มาพร้อมกับลมสดชื่นที่พัดผ่านยอดหญ้า สมัยที่อยู่อเมริกา ผมก็ชอบเล่นหิมะในระยะแรก แต่แล้วก็ไม่ได้พิศมัยนัก
5. ผมมาเกิดเมืองไทย เพราะผมเป็นคนไม่มีระเบียนวินัย เป็นคนตามแห่ โหยหากลุ่ม และไม่มีสำนึกด้านการเมือง
ผมย่อมไม่ควรเกิดในประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้คนมีวินัย, ไม่ควรเกิดในประเทศแถบตะวันตก ที่ผู้คนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่มีทรรศนะ “ปลอดภัยเมื่ออิงกลุ่ม” แบบคนไทย, ไม่ควรเกิดเป็นคนเยอรมัน ฐานรากของกฎหมายมหาชนของโลก, ไม่ควรเกิดเป็นคนฝรั่งเศสรสนิยมวิไล ที่เฝ้าครุ่นคิดและใช้ปัญญาวิพากษ์ปัญหาส่วนรวม และใส่หน้ากากผู้ดี ฯลฯ เรามีนิสัยแบบใด เราก็ควรเกิดในเมืองที่ผู้คนเค้าเป็นแบบนั้น และนั่นก็ทำให้ “การติดยึด” นั้นยิ่งเข้มขึ้น เพราะเมื่อเราเกิดและโตในเมืองแบบนั้น เราก็ย่อมมีนิสัยแบบคนในเมืองนั้น
ปัญหานี้ พอคิดแล้วสนุกดี เพราะจะพบถ้อยคำที่เรียกว่า “กงล้อประวัติศาสตร์” หรือมากกว่านั้นก็คือ “เวลาไม่ได้เดินไปเป็นเส้นตรง หากแต่เป็นวงกลม อดีตของเรา จะไปปรากฏเป็นอนาคตของเรา” (เปรียบเทียบกับการทอดลูกเต๋าก็คือ ลูกเต๋ามันก็วนออกมา 1-6 นั่นแหละ วนไปวนมา การได้ 1 ตอนเช้า ก็ตอนเย็น ไม่ได้ต่างอะไรกัน)
6. ผมมาเกิดเมืองไทย ได้พบพระพุทธศาสนา เพราะผมนับถือพระพุทธศาสนา
แล้วถ้อยคำก่นด่า ประชดประชันด้านบน ก็กลับกลายเป็นความวาบหวามโรแมนติคอย่างยิ่ง เมื่อจบท้ายด้วยการบอกว่า ผมรักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีแต่การเกิดมาในสังคมไทยเท่านั้น ที่จะมีภูมิหลังมากพอที่จะเข้าถึงพุทธธรรมได้สะดวก และนั่นก็คุ้มค่ากับการเกิดมาเจอ “ด้านแย่ๆ ของความเป็นไทย” ทั้งหลาย หรือจะว่าไปแล้ว ต่อให้ชีวิตจะต้องเลวร้ายกว่านี้อีกกี่เท่า ต่อให้สังคมจะสาดโคลน สาดระเบิดใส่กันมากกว่านี้อีกสักเท่าไหร่ แค่ได้เกิดมาเจอพุทธศาสนา ก็คุ้มค่ากับความเลวร้ายทั้งปวงแล้ว
หลวงพ่อปราโมทย์ กล่าวเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2551 ว่า
คนไหนความจำดีๆ ระลึกชาติได้ จะรู้สึกเลยว่า ชาติไหนที่ไม่ได้เจอพระพุทธศาสนานั้น ชีวิตมันวังเวง
ก็ทำคุณงามความดีไปนั่นแหละ แต่ว่าไม่รู้เป้าหมายของชีวิต
พระพุทธเจ้ามาสอนเรานะ ให้เรารู้ว่า เป้าหมายของชีวิตเรา คืออะไร
เขียนเรื่องแรงดึงดูดและกฎแห่งกรรมเพื่อรับใช้ “ความคิด”
เพื่อที่จะให้เกิดแรงส่งต่อ ให้ได้พบกับพุทธศาสนาอีกในอนาคต ย่อมต้องใช้ “การกระทำ”
ข้ามภพชาติมานานแสนนาน กว่าจะได้พบพระพุทธศาสนา กว่าจะได้พบกัน
หากท่านได้อ่านประโยคนี้ ย่อมแปลว่า เรามีวาสนาต่อกัน และท่านเองก็มีวาสนาต่อ พุทธธรรม
ลอง คลิกฟังธรรม หน่อยดีมั้ย ขอให้ฟังซัก 1-2 คลิป หากไม่ถูกจริตก็ไม่ว่ากัน
(นั่น ตอนจบดันฮาร์ดเซลซะงั้น :D)
สวัสดี
อ่านตอนต้นๆเหมือนจะอ่านง่าย อ่านๆไปกลับหนักซะงั้น แต่ผมชอบนะครับ
เมื่อราว 6 – 7 ปีที่แล้ว ผมเคยครุ่นคิดอยู่พักหนึ่งว่า สิ่งต่างๆที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นไปเพราะเราคิด เราอยากให้มันเป็นแบบนั้นเอง
คนนู้นเลว คนนี้ชั่ว คนนั้นดี ก็เพราะเราอยากให้เค้าเลว ชั่ว และดี
ถ้าเราเปลี่ยนความคิด อยากให้เค้าเป็นคนดี เค้าก็จะเป็นคนดี
แต่ความเป็นจริง มันยากเหลือเกินที่จะคิดเช่นนั้นตลอดเวลา
ต่อเรื่องนี้ ผมว่า คำว่า “แรงดึงดูด” นั้นอธิบายได้น่าสนใจกว่าน่ะครับ คือเราไปเปลี่ยนใครได้ยาก แต่เราจะดึงดูดคนแบบเราเข้ามาเสมอ เท่านั้นเอง
ข้อ 6 สำหรับผมแล้ว ผมว่าสำคัญที่สุด เป็นเด็ก ๆ แก้ปัญหาอะไรไม่ตกเวลาต้องทำทุกอย่างและตัดสินใจด้วยตัวเอง ผมมักจะนั่งสมาธิ ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และก็ดีใจที่พบพระพุทธศาสนาให้ได้น้อมนำชีวิต
พูดถึงเรื่องน้ำฝน ต้องนี่เลยครับ น้ำฝนจากหลังคาใบจาก ช่างหอมและหวานชื่นใจ ยิ่งหน้าร้อนใส่น้ำยาอุทัยทิพย์ (ที่สาวสมัยนี้ไว้ทาปาและแก้ม)แช่น้ำแข็งเย็น ๆ ดับกระหายได้เป็นอย่างดี
หลงรักภาษาไทยเหมือนกันค่ะ
แต่ไม่ได้เรียนทางนี้อ่ะ(แม่ไม่ให้เรียน)
พอไปเรียนภาษาต่างชาติ—ก็ชอบ
แต่ยังงัยก็ภูมิใจในภาษาไทยมากมายอยู่ดี
ปล.เรื่องภาษากำกวมชอบมาก และขอบอกพี่เม่นว่า
ภาษาต่างประเทศก็กำกวมเหมือนกัน
ลองหาพวกวรรณคดีอังกฤษ(ไม่ใช่อเมริกันมาอ่านค่ะ
จะรู้ว่าภาษาทุกภาษา”ดิ้น”ได้ ไม่มีคำตอบตายตัว
จึงเรียนยากกว่าวิชาอื่นๆ(เช่นคณิตศาสตร์)ไงคะ
อืมมมม แล้วถ้่าเป็นอย่างนี้ล่ะคะ แบบเ้น้นว่าสิ่งอื่นมีผลต่อตัวเรา
มากกว่าตัวเราเองน่ะ (ไม่อยากโทษตัวเองว่างั้น ^^; )
“ประเทศที่ผู้คนดจร. ผมจึงดจร.”
“ผมมาเกิดในประเทศศักดินา ผมจึงชอบทาสรับใช้”
“ผมมาเกิดเมืองไทย ผมจึงเป็นคนไม่มีระเบียนวินัย เป็นคนตามแห่ โหยหากลุ่ม และไม่มีสำนึกด้านการเมือง”
“ผมมาเกิดเมืองไทย ผมจึงได้พบพระพุทธศาสนา”
ส่วน 3-4 ถือเป็น รสนิยม…มั้ง
เพิ่งรู้น่ะครับ synonym คำไทยเรียกว่า “คำไวพจน์”
ลึกซึ้งๆ กินใจ ข้าน้อยขอคาระวะหนึ่งจ้อก (เลียนแบบวลีเด็ดของพี่ครับ :P)
จะมาแวะเวียนอ่านบ่อยๅ ครับ
พี่เม่นครับ
ยอดเยี่ยมมากครับ
มุมคิดนี้น่าสนใจ มีศิลปะการนำเสนอ ที่สำคัญ
“นวัตกรรม”
ผมเห็นต่างบางประเด็น (แต่ขอติดไว้ก่อน)
ผมคิดว่า “กรรม” มันซับซ้อนกว่านั้น
อาจเป็นระบบ Chaos ที่ไม่ได้เชื่อมโยงตรงๆแบบนี้
อาจเป็นแบบผีเสื้อกระพือปีกก็ได้
ชอบที่บอกว่า “กรรม” อินทริกรัล ตลอดเวลา
อาจจะคล้ายๆแนวคิด “โมนาด” ของ Leibniz หรือเปล่า
อีกแนวคิดนึง คือ connecting the dots ของ steve jobs
ผมว่าก็อาจผนวกเข้าด้วย
พึ่งเจอหนังสือเล่มนี้ เขาบอกว่า การทำตามความพึงพอใจและความปรารถนาส่วนตัว
เป็นเรื่องมีเหตุผล ไม่ได้ไร้สาระอย่างที่คิดไว้
http://astore.amazon.com/siaminteunit-20/detail/0195322851
เอาเป็นว่า อย่าลืมไปงาน ReadCamp เสาร์นี้ นะครับ
ยินดีที่พวกเราทำให้คุณเม่น เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียน
วันนั้น ผมก็ได้อะไรไปเยอะเช่นกัน
เห็นว่ากรรมเป็น Chaos เช่นกันครับ ท่านพุทธทาสกล่าวว่า กรรม เป็น “กระแสคลื่น” คือไม่ใช่ “เหตุ” นำไปสู่ “ผล” แต่เป็น “ปัจจัย” นำไปสู่ “ผล” (มีปัจจัยมากมาย ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่เราเผชิญ หลักธรรมที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างเยี่ยมยอดคือ “อิทัปจยตา”) จึงยากต่อการนำเสนอน่ะครับ เสนอตรงๆ เข้าใจง่ายกว่า
ส่วน connecting the dots อันนี้แน่นอนเลยครับ เป็นเรื่องของ “กรรม” แท้ๆ เลย
อ่านไปอ่านมาลิงค์ไปติดบล็อคคุณ mk ซะงั้นเลยครับ 😛
ชอบครับ
เข้ามาอ่านบ่อยๆ นานแล้ว
ชอบๆ
ตื่นเช้ามา คิดว่าไม่อยากกินเหล้าเล๊ย … สุดท้ายก็ต้องมีคนชวน …ซะงั้น
คมคำ
เห็นด้วยกะฮั่น
………
ผมเป็นคนเลวที่ดีคนหนึ่ง
ผมไม่ชอบกินเหล้า(คนเดียว)
ผมรอคนชวนเสมอ (ไม่ชอบแพ้ชนะ)
ผมรอนานไม่ได้(นานไม่ยอมมา)
ผมชวนเอง(เองมา)
แฮ่
คิดถึงพี่ .. พี่ก็เขียนมาชวน
From Nan(พิมพ์ผิดจาก Han)
^-^
รอ79พร้อมหน้าพร้อมตาดีก่า
เด็ด ไม่มีสำนึกด้านการเมือง ประชาธิปไตยแบบงงๆ แต่ก็อิทัปปัจจยตา วาระของประเทศ
ครูเม่นอ่าน เรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่งรึยังค่ะ …. http://www.dhammajak.net/book-pramote/19.html
โอ้ว ขอบคุณครับ ยังไม่ได้อ่านเลยครับ ตามหามาพักนึงแล้ว ขอบคุณยิ่งขอรับ
เห็นด้วย หมดเลย ครับทั่น
เคยถกกับ ทั่นเด่น CP22 เมื่อน้านนานมาแล้ว ว่า
ดวง มีจริง แต่เรากำหนดได้ อย่างน้อยก็บางส่วน
ถ้าจะไม่ทั้งหมด ก็เพราะ เราไม่รู้กฎแห่งกรรม แบบครบถ้วน
ปัจจุบัน เป็น ผลรวม (integral) ของอดีต
แต่เนื่องจาก อดีต เราก็คงทำอะไรไว้หลายด้าน (ตั้งแต่ 1 ไปถึง 6 ของหน้าลูกเต๋า)
ดังนั้น คงมีอย่างอื่นด้วยกระมัง ที่เป็นองค์ประกอบ นำพา (หรือดึงดูด) ให้เรามาอยู่ ณ ปัจจุบัน
(ไม่น่าทำให้กระผมต้องฉุกคิดเรื่องนี้เลย กะลังปั่นงานอยู่แท้ๆ
กรรมอันใด ดึงดูด ให้กระผมได้เข้ามาอ่านโพสต์นี้ฟระ)
อยากให้ดึงดูดพุงได้จัง
ผมเพิ่งมาเห็นเอนทรีนี้
ไอ้ขับเครื่องบินหลวงนี่มันเสียวๆ นา คุณเม่น
ฮิฮิ ยังอุตส่าห์มีคนเจอ 😛
สวัสดีครับพี่เม่น ผมตรัง82นะครับ ไม่ทราบว่ายังจำได้หรือเปล่า
พึ่งรู้ว่าพี่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปราโมทย์เหมือนกัน
ยินดีที่ได้กลับมาเจอพี่อีกนะคร้าบบบ
55++ “สฤษฎก” เนี่ย แถวบ้านเขาพูดกันบ่อยนะ บางทีก็พูดว่า
“สฤษปิ้ดป้าง ” คล้ายๆกันค่ะ
เชื่อเรื่องกฎแรงดึงดูดเหมือนกัน ถ้าไม่เข้ามาอ่านบล็อกไม่รู้นะเนี่ย
มีอีกกฎด้วย (เคยไปฟังอาจารย์ด้านจิตวิทยาบรรยาย นานแว้ววว) รังสีด้านบวกกับรังสีด้านลบ ถ้าเราอยู่ใกล้อะไรที่ลบมากๆ เราก็กลายที่คนคิดลบ อันนี้ก็เริ่มเชื่อหล่ะว่ามันเป็นความจริง
ชอบๆๆๆๆ เห็นด้วยที่สุดค่ะ
ผมได้เข้ามาเจอ บล็อกนี้โดยบังเอิญ จากการเสริชคำว่า ” พระเจ้า ลูกเต๋า”
หลายครั้งที่เรา รู้สึกเจ็บปวดกับชีวิต ความรู้สึกอยากโทษสิ่งอื่น ยกเว้น “ตัวเรา” มันนำให้ผม
รู้จัก “ทุกข์” รู้จัก ” Butterfly Effect” นำผมมองเห็นถึง เส้นใยมองไม่เห็น
เชื่อมจากศูนย์กลางตัวเรา ไปสู่สรรพสิ่ง และเส้นใยนี้ ก็เชื่อมทุกสิ่งเข้าด้วยกัน… เมื่อเรากระตุกเชือกเส้นนี้
มันก็ไปกระตุกอีกคนหนึ่ง…และคนนั้นก็ไปกระตุกอีกคนหนึ่ง…จนครบ
และสุดท้าย มันก็กลับมาที่เรา..ถ้าเปรียบว่ากรรมหรือการกระทำใดๆเป็นคลื่นชนิดหนึ่ง มันจะกระทบและสะท้อนไปเรื่อยๆ กลับมากระทบตัวเรา และคนรอบข้างเรานับครั้งไม่ถ้วน นี่แค่การกระทำ 1 การกระทำเท่านั้นเอง อาจก่อเกิดคลื่นขนาดต่างกัน เล็กใหญ่ ..แต่ถ้าสิ่งที่เราส่งไปเป็นบวก คลื่นนั้นคงจะกลับมาเป็นบวกเช่นกัน แต่เราไม่รู้หรอก ว่าคลื่นนั้นจะเป็นบวกแท้ๆ เพราะมันต้องไปผสมปนเปกับคลื่นที่ออกจากคนอื่นๆ อีกนับล้าน มันจะกระทบอะไรกลับมาอีกก็มิอาจทราบได้ แต่ถ้าเราหยุดส่ง หยุดรับ ปิดเครื่องส่งเครื่องรับซะ ..
จาก ควอนตัม…มาลงที่บล็อกคุณได้ ก็เพราะคุณนั่นแหละที่ “ดึงดูด” ผมมาจากบทความที่คุณเขียน และเชื่อว่า อีกไม่นาน เรื่องราวของ แพทเทิร์น โครงสร้างที่มองไม่เห็นต่างๆ จะถูกมาปลดปล่อยที่นี่..เหนื่อยหน่อยนะครับ
คุณยอดเยี่ยมมากในสายตาผม
วัลลภ
สวัสดีค่ะ เจอบล็อคนี้โดยบังเอิญจากลิ้งค์ีที่เพื่อนโพสไว้ในเฟซบุ๊ค
ซึ่งตอนแรกก็เปิดผ่านๆ เพราะไม่คิดว่าจะอยู่ในความสนใจของเรา
แต่พอคลิกไปคลิกมา ก็เจอบทความนี้ และชอบบทความนี้มาก โดยเฉพาะข้อความ
“ต่อให้ชีวิตจะต้องเลวร้ายกว่านี้อีกกี่เท่า ต่อให้สังคมจะสาดโคลน สาดระเบิดใส่กันมากกว่านี้อีกสักเท่าไหร่ แค่ได้เกิดมาเจอพุทธศาสนา ก็คุ้มค่ากับความเลวร้ายทั้งปวงแล้ว”
ที่ทำให้เกิดปีตีอย่างแรงในตอนท้าย อนุโมทนาด้วยนะคะ
ในชีวิต ได้เจอเรื่องอะไรหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ทำไมเกิดมาชีวิตมันแย่อย่างนี้
แทบจะมองหาด้านดีไม่ได้ (จริงๆแล้วมีด้านดีแต่ไม่ค่อยยอมมอง) ทำให้ชอบคิดลบกับตัวเอง
แต่พอนึกถึงว่า เราโชคดีขนาดไหนที่ได้มีโอกาสรู้จักทางที่ถูกต้อง
ได้ฟังธรรมะหลวงพ่อตั้งแต่ยังอายุเท่านี้ ได้พบกัลยาณมิตรตลอดจนครูบาอาจารย์ที่ช่วยชี้แนะเรา
แม้ว่าตอนนี้เราจะยังมีกิเลส มานะอัตตาอยู่เพียบพร้อมก็ตาม
แต่เส้นทางนี้ก็ช่วยให้เราทุกข์สั้นลงจริงๆ
มันก็ทำให้เราเห็นด้วยกับประโยคที่คุณว่าจริงๆค่ะ
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุและปัจจัยเสมอ (ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะยังวางอุเบกขากับเรื่องของตัวเองไม่ได้ก็ตาม ^^”)
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่เขียนไว้นะคะ
ปล. ชอบตรรกะที่คุณอธิบายเรื่องกรรมแล้วเชื่อมโยงเข้ากับกฏแห่งการดึงดูดมาก อ่านแล้วเข้าใจง่าย และเห็นด้วยที่สุดค่ะ ขอบคุณนะคะ
เรียนธรรมะกับหลวงพ่อปราโมทย์เหมือนกันเลยค่ะ ดีใจจัง ที่ได้รู้จักเพิ่มอีกหนึ่ง มันดึงดูดกันจริงๆ ด้วย
ได้ไปสวนสันติธรรมบ้างมั้ยคะคุณเม่น?
ผมตั้งใจจะหาความรู้เกี่ยวกับการทำเว็บ มาเจอบทความนี้โดยบังเอิญ อยากบอกว่าชอบมากครับ พี่เม่นอธิบายเรื่องกรรมได้เข้าใจง่ายมากๆ เลยครับ มีเหตุผล ทันสมัยและไม่งมงาย ซึ่งอันหลังนี้บางทีทำให้บางคนไม่เชื่อในเรื่องกรรมและอาจพาลไม่ศรัทธาในพุทธศาสนาไปด้วยก็มี
ส่วนตัวผมมีแนวคิดเรื่องกรรมในแนวเดียวกับพี่เม่นเลยครับ แต่ผมไม่สามารถถ่ายทอดและอธิบายออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้ดีเหมือนพี่ครับ และสุดท้ายครับ ชอบเห็นด้วยที่สุดเลยครับกับประโยคที่ว่า “ต่อให้ชีวิตจะต้องเลวร้ายกว่านี้อีกกี่เท่า ต่อให้สังคมจะสาดโคลน สาดระเบิดใส่กันมากกว่านี้อีกสักเท่าไหร่ แค่ได้เกิดมาเจอพุทธศาสนา ก็คุ้มค่ากับความเลวร้ายทั้งปวงแล้ว” สุดยอดครับ