ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยเรื่องสั้นจบในตอน ทั้งดีและร้าย สนุกสนาน ไร้แก่นสาร หรือมุ่งมั่นค้นหาสาระ บางเรื่องที่ผ่านมานั้น เราอาจจะลืมมันไปเสียนาน จนกระทั่งมีเหตุการณ์ให้หวนระลึก เรื่องที่เคยจบในตอน ก็กลับกลายเป็นแค่ปฐมบท สำหรับเรื่องขนาดยาวต่อมา
ต่อจาก ชีวิตผ่านไปทีละวัน (2) ช่วงมัธยม
ผมเอ็นทรานส์ติดคณะวิศวะ จุฬาฯ ในตอนม.5 ซึ่งทำให้พ่อดีใจมาก นี่เป็นกรณีนึงของการ “ทำสิ่งพิเศษให้เป็นเรื่องพิเศษ” นึกย้อนกลับไปแล้วผมก็รู้สึกผิด
ผมไม่เคยบอกพ่อเลยว่า ผมทำคะแนนวิชาเลขในข้อสอบเอ็นทรานส์เก่าย้อนหลัง 10 ปี ไม่เคยได้ต่ำกว่า 95/100 และผมบวกลบคะแนนดูแล้ว อย่างเลวร้ายคะแนนของผมก็จะสูงกว่าคะแนนขั้นต่ำของอันดับ 1 ที่เลือกไว้
ผมเริ่มเหนื่อยจากความโดดเด่นและสมบูรณ์แบบ ช่วงมหาวิทยาลัยจึงเป็นวัยที่ผมวิ่งหนีออกจาก How-to ทั้งหลาย และได้พบกับเรื่องของเพื่อน คณะ ความฝัน ศรัทธา
รุ่นผมคงเป็นรอยต่อระหว่างอดีต ที่เต็มไปด้วยคุณค่าเก่าๆอันหนักอึ้งที่ล้าสมัย และปัจจุบัน ที่จำนวนมาก มหาวิทยาลัยเป็นความเบาหวิวของเน็ทเวิร์คผู้บริโภค และเป็นสวรรค์ไร้แก่นสารระหว่างนรกแห่งการสอบเข้า และนรกแห่งการทำงาน
เป็นช่วงชีวิตแสวงหา ที่ล่องลอย แม้จะทำกิจกรรมต่างๆมากมาย
ได้พบคนอย่างไอ้ชาร์ด มุสลิมเสเพลที่สนใจในปรัชญาพุทธ และสุราเมรัย
ได้พบคนอย่างไอ้เก๋ คนรักเพื่อนรักเหล้าที่ตรงไปตรงมา คิดซับซ้อนไม่เป็น แต่จริงใจ
ได้พบคนอย่างไอ้โน้ต ผู้ประสานสิบทิศ ไหว้วานคนได้ทั้งแผ่นดิน
ได้พบคนอย่างไอ้เอก ผู้อ่านสามก๊กมานับร้อยจบ (ไม่ใช่สำนวนนะ เรื่องจริง) ผ่านการต่อสู้ทางจิตใจมาสาหัสนัก แม้เราจะลงเอยคนละแนวทาง แต่ผมก็นับถือมัน มันเป็นคนแรกที่วิเคราะห์ผมแล้วบอกว่า “มึงจงเป็นขุนพล อย่าเป็นแม่ทัพ” ไอ้เอกเป็นคนทำให้ว้ากเกอร์อย่างเรา ตัดสินใจล้มระบบว้ากเกอร์ของคณะวิศวะ จุฬาฯ และทำให้กรรมการนิสิตตัดสินใจยกเลิกการโปรยใบจามจุรี เพราะไม่อยากให้มีการตัดต้นไม้กับผลิตขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละปี (แน่นอนว่าเกิดสงครามครั้งใหญ่ภายในคณะ ซึ่งต่อมา สิ่งที่ยกเลิกไปก็กลับคืนมาอยู่ดี)
ได้พบคนอย่างไอ้ป่าน ผู้บอกว่า “กูจะเป็นศาสดา” และ “ทุกอำนาจ ต้องใช้เงินโว้ยเม่น” และเลือกทำกิจกรรมในตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับเงิน
ได้พบคนอย่างไอ้บ๊อบ ผู้สามารถเปลี่ยนอายุตัวเองในบัตรประชาชนได้ ทั้งเพื่อเข้าเตรียมทหาร และเพื่อเข้าโครงการจุฬาฯชนบท มันยอมทิ้งลูกเมียไว้เบื้องหลังและมาคลุกคลีกับไอ้พวกเด็กเหลือขออย่างเรา
ไอ้บ๊อบสามารถกินเหล้าแสงทิพย์ 1 กลมติดต่อกันได้หมดรวดเดียว มันทำให้ผม ไอ้ชาร์ด และไอ้ตาม ต้องเดินรอยตาม
ได้พบคนอย่างไอ้กอล์ฟ คนกล้าบ้าบิ่นจนถึงบ้าบอ ด้วยสปิริตบางอย่าง มันเคยยกหินขนาด 10 คนโอบจากก้นเลนเพื่อเคลียร์ทางสร้างสะพาน แต่หินกลับตกมาทับมือมัน กระนั้น เสี้ยววินาทีก่อนที่มือมันจะหัก เพื่อนๆรักบี้ก็ตั้งสกรัมและดันหลังมันไว้ได้ หลังจากนั้น มันเลยได้ฉายาว่า ผู้พัน!
ได้พบคนอย่างไอ้นัท ผู้แนะนำหนังสือสารพันให้ผม โดยเฉพาะท่านพุทธทาส แต่แล้วมันก็กลับมีทรรศนคติที่โหดร้ายกว่านิทเช่ว่า “ไม่ใช่เพียงพระเจ้าตายแล้วหรอก แม้แต่พระอรหันต์กูก็ไม่นับถือ” มันศึกษาตำราจิตวิทยาหลายเล่ม เพื่อไปปั่นหัวจิตแพทย์ในตอนที่พ่อมันส่งมันเข้าโรงพยาบาลบ้า หลังจากนั้นมันตัดสินใจไม่ไปสอบ และ รีไทร์ เพื่อมาเยาะเย้ยพวกเราภายหลังว่า ไอ้พวกไต่กระไดแข่งกันในระบอบทุน
ได้พบคนอย่างไอ้ต่อ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกมืด ช่ำชองในสุรา นารี ยาเสพติด แต่ไม่เล่นการพนัน (มันบอกผมว่า คนเราถ้ารักจะเหี้ย ต้องเหี้ยไม่กี่เรื่อง ถ้าเหี้ยทุกเรื่อง ชีวิตจะไม่ยืนยาว) ไอ้ต่อมีผู้หญิงไม่ขาดมือ ทุกประเภท – ซึ่งหมายถึงทั้งอาชีพ และ หน้าตา ผมเพิ่งมาเข้าใจรสนิยมมันก็ตอนที่ได้อ่านชีวิตของ โทมัส ในเรื่องความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต เพราะตัวละครนี้ก็ค้นหา “ภาวะอันเร้นลับ” ซึ่งมิได้มีอยู่เฉพาะในผู้หญิงหน้าตาดีหรือขี้ริ้ว เหมือนกันกับมัน
ได้พบคนอย่างไอัพัน ผู้มีอุดมการณ์แรงๆ ที่หวังดีกับสังคม กระนั้น มันก็พบกับความผิดหวังเสียมาก ทั้งกับเพื่อน และ วิชาชีพ (วิศวกรรมโยธา) ภายหลังมันตัดสินใจเลิกเป็นวิศวกร หันมาทำธุรกิจขายตรงจริงจัง สร้างรายได้หลักสิบล้าน เพื่อจะได้มีเงินเก็บมาสร้างโรงเรียนอย่างที่เคยฝัน
ได้พบคนอย่างไอ้ป๊ะ ผู้รักชีวิตในค่ายอาสาฯ และไม่กลับมาเรียน จนมหาวิทยาลัยให้ออกตอนปี 2 จำได้ว่า เพื่อนๆลงเงินกัน เพื่อให้ผมและไอ้ปุ้ยขึ้นเครื่องบินไปตามมันกลับมาเดินเรื่อง และด้วยความช่วยเหลือของหลายฝ่าย คณะก็ช่วยเปลี่ยนเกรดให้ และแก้ใบรีไทร์ จนมันก็สามารถเรียนจบในปี 5 ในที่สุด
ได้พบคนอย่างไอ้ปุ้ย ไอ้ฮั่น ไอ้อัค ชีวิตมันเรียบง่าย แต่หัวใจสำหรับเพื่อนนั้นยิ่งใหญ่
ได้พบคนอย่างไอ้เหลา มุขตลกของมันนั้น เกินกว่าที่หนังสือเดอร์ตี้โจ๊กในโลก จะบันทึกไว้ได้หมด
ได้พบคนอย่างไอ้เกริก สุดยอดปรมาจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ มันทำให้ผมเลือกเรียนคณะคอมพิวเตอร์ (เพราะแน่ใจได้ว่า เมื่อเสเพลจริงๆ มันทำให้ผมพร้อมเตรียมสอบในเวลา 1 วันได้) เพื่อนหลายคนแซวว่า ผมจบมาได้เพราะไปซีร้อกซ์ใบปริญญาไอ้เกริกมา
ได้พบคนอย่างไอ้จ๋ง ยอดฝีมืองำประกาย ฉายา “ไร้คลื่น” เพราะมันสามารถมา “สังเกตการณ์” ในทุกวงประชุมได้เป็นเวลานาน กว่าจะมีใครรู้ตัวว่า มีมันอยู่ด้วย
ในฐานะที่ผมก็เป็น “ผู้สังเกตการณ์” คนหนึ่ง จึงอยากยกย่องมันว่า หากจะมีผู้สังเกตการณ์ที่เร้นตัวออกจากโลกอยู่จริงๆแล้ว ไอ้จ๋งก็จะเป็น ผู้สังเกตการณ์ที่ซุ่มดูผู้สังเกตการณ์คนนั้นอีกที
ได้พบคนอย่างไอ้แมน ผู้ศรัทธาในกิจกรรมและคณะ ชักชวนผมเข้ามาในโลกของคนทำกิจกรรม แต่มันกลับรู้จักตัวเองดีพอที่กล้าลาออกในตอนปี 2 เพื่อไปเรียนคณะอื่นที่มันต้องการ
ได้พบคนอย่างไอ้วิทย์ เพื่อนบดินทร์ที่ไปเรียนต่อแพทย์จุฬาฯ และเลือกชีวิตที่ยากลำบาก เพราะ “กูจะไม่รวยโว้ยเม่น และกูจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์”
ได้พบคนอย่างไอ้พัช และได้แต่งเพลงร่วมกัน เวลาที่ได้ทำเพลงกับพัช เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ตอนนั้น ผมถึงกับฝันว่า วันนึง ผมจะเป็นนักแต่งเพลง
และเพื่อนอีกจำนวนมากที่ไม่อาจกล่าวถึงได้ทุกคน ซึ่งทำให้เวลาผมอ่านหนังสืออย่าง พันธุ์หมาบ้า แล้วไม่ได้นึกถึงผู้คนในหนังสือ แต่นึกถึงเพื่อนของผม
เพราะช่วงเวลานั้น มีทั้งการทำกิจกรรมเพื่อสังคม การออกชนบท การเดินทางเพื่อแสวงหาตนเอง การเที่ยวเตร่ เปิดหมวก โบกรถไปกับเพื่อน การข้องแวะกับโลกทั้งด้านที่สดใจและมืดมิด ดีที่ผมชอบการเมาอย่างเดียวคือเมาเหล้า ถ้าต้องเลือกเมาเนื้อ ผมกลับชอบนั่งสมาธิมากกว่า – ซึ่งทำให้ผมผ่านช่วงนั้นมาได้อย่างปกติสุข
ปี 3 ผมได้บวชที่วัดป่า พบว่าสงบสุขและมองโลกในแง่ดีขึ้นมาก
แต่หลังจากนั้นไม่นาน พ่อผมก็เสียที่บ้าน ท่านหลับไปและไม่ตื่นขึ้นมาอีก แม้จะรู้มาก่อนหน้าบ้าง เพราะท่านอาการแย่ลงเรื่อยๆ ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ และไม่ค่อยทำตามหมอสั่งในเรื่องการควบคุมอาหารและเรื่องอื่นๆ พี่สาวผมที่เรียนหมออยู่ก็ไม่ค่อยมีเวลามาคอยควบคุมพฤติกรรมของพ่อ ส่วนผมที่อยู่บ้านเดียวกับท่าน ก็กลับไม่ควบคุม กลับเห็นด้วยกับท่านที่ว่า ไม่เห็นจะต้องมีอายุยืนแล้วไม่มีความสุขเลย ท่านมีความสุขกับสิ่งที่จะทำให้อายุสั้นลง ก็ให้ท่านมีความสุขดีกว่า (แม้ความสุขจะมีหลายมิติก็ตาม)
แต่แน่นอนว่า เมื่อท่านเสียไปจริงๆ หัวใจของผมย่อมปวดร้าวเสียใจ กระนั้นสมองผู้คิดตามเหตุผลก็กลับบอกผมว่า ทุกสิ่งนั้นสมควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว และที่จริง “ผมมีเวลาต้องเนิ่นนานแล้ว ที่จะเอ่ยคำร่ำลา”
ในงานศพของพ่อนั้นผมไม่ได้เสียน้ำตาซักหยด จำได้แต่เพียงถ้อยคำที่กล่าวกับตัวเองซ้ำๆ ว่า สุดท้ายคนเราก็ต้องจากกัน และเราก็มีเวลาอันเนิ่นนาน สำหรับเอ่ยคำลาจาก
กับคำถามที่คอยถามตัวเองว่า “เรายังไม่พร้อมที่จะจากกันอีกหรือ?” ซึ่งมันก็ฝังลึกลงไป จนทำให้ชีวิตหลังจากนั้นของผม กลายเป็นเหมือนถ้อยคำของ “อัลมุสตาฟา” (ปรัชญาชีวิต, คาริล ยิบราน) ที่ว่า จงอยู่บนยอดเขา เพราะที่ยอดเขา จะมองเห็นเมืองได้งดงามกว่า
ผมไม่กล้าเอาหัวใจไปผูกกับอะไรไว้อีกเลย แม้ไอ้ชาร์ดจะแซวว่า อยู่บนยอดเขานั้น หนาวกว่าในเมือง แต่ผมก็กลัวที่จะอยู่ในเมือง อยู่ท่ามกลางผู้คนจริงๆจังๆ อยู่ดี
มันทำให้ผมชินกับความเหงา และชินกับถ้อยคำปลอบประโลมตนเองว่า “เม่น มึงมีความสุขดีอยู่แล้ว”
หลังจบการศึกษาผมใช้เวลาทำค่ายอาสาอีก 3 เดือน แน่ใจว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความฝัน และเป็นการพักผ่อนของจิตวิญญาณ แต่ผมกลับไม่แน่ใจว่า ผมกำลัง “พัฒนา” ชนบท หรือทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่หรือเปล่า เพราะจริงอยู่ ที่ผมนำ “ความเจริญ” ไปให้พวกเค้า แต่ใครจะรู้ว่า “ความเจริญ” จะนำพวกเค้าไปสู่อะไร
การทำความรู้จักกับชาวบ้าน ทำให้เข้าใจระดับนึงว่า คนจนไม่ใช่คนโง่ แต่คนจนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี ทุกหย่อมหญ้าก็ย่อมมีเรื่องดีและร้ายทั้งนั้น และสิ่งที่น่ากลัวกว่าความจริงก็คือ ภาพลักษณ์ของความจริง และการโฆษณาชวนเชื่อ (พูดตรงๆก็คือ ชาวบ้านที่รอความช่วยเหลือนั้น บางคนก็เหี้ยจนไม่ควรไปช่วยเหลือ และอีกนัยหนึ่ง การที่เราไปช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านบางคนเปลี่ยนจากคนดีกลายเป็นคนเหี้ย ก็เพราะผลประโยชน์ ที่เรายื่นไปนั่นแหละ)
บางครั้งผมถึงกับสิ้นหวังว่า เมื่อมีสติปัญญาและรับรู้ข้อมูลถึงระดับนึงแล้ว โลกนี้ยังจะมีเรื่องที่น่ารื่นรมย์อยู่จริงๆหรือ? และระบบที่ีมนุษย์ใช้ชีวิตอยู่นี้ มันน่าอยู่จริงๆหรือ?
เหมือนที่หลานของเสรีไทยท่านหนึ่งกล่าวว่า คนที่พูดได้ 7 ภาษานั้นย่อมเหงากว่าคนปกติ เพราะเค้าอาจจะเข้าใจคนอื่นได้ แต่ยากที่คนอื่นจะเข้าใจเค้า ในวัยนั้นผมเริ่มพูดกับใครไม่รู้เรื่อง แม้กระทั่งองค์กร “เพื่อสังคม” ทั้งหลาย โดยเฉพาะผมเป็นเพียงแค่เด็กจบใหม่คนหนึ่ง ไม่มีงานทำ และยังเลี้ยงตัวเองไม่รอด
ยังดีที่ไอ้ปุ้ยพาผมไปสัมภาษณ์งาน และได้งานคอนเซ้าท์ที่ต้องเดินทางไปทั่วสารทิศ ความคิดอันฟุ้งซ่านทั้งหลายของผมจึงทุเลาลง เหลือแค่สิ่งจำเป็นเฉพาะหน้า คือการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อทำงานให้ดีและหาทางมีชีวิตอยู่ในอนาคตได้อย่างปกติสุข
ทำให้รู้่สึกขอบคุณไดอารี่บันทึกแบ่งคนอื่นอ่าน
ที่ทำให้รู้จักคนอย่าง ไอ่เม่น คนคลาสสิคอย่างนี้ก็มีดั้วะ ชื่นชมความสุขในทุกรูปแบบของตัวเองเสมอ
ชื่นชมแม้กระทั่งพุงโตๆน้ำหนักมากๆที่ต้องแบกอยู่ทุกวัน
ขอบคุณที่ช่วยกลั่นกรองและบันทึกไว้…
(กำลังคิดว่า … ทำไงดีหว่า ถึงจะหาเรื่องนัดเพื่อนๆมาเจอกันได้อีกครา)
เขียนได้ดีอ่านแล้วภาพในอดีตลอยขึ้นมาเลย แต่ขอแก้ไขข้อมูลว่าไอ้ต่อเล่นการพนันครับ ผมเล่นไพ่รัมมี่ที่ห้องมันกับไอ้ชาร์ท ไอ้ป๊ะ มีตานึงประมาณ ตี3มันน๊อคมืดระหว่างที่ทุกคนกำลังเพลินๆ ทำให้ผมโดน โง่ มืด สี มาแล้วครับจำไม่ลืมจนทุกวันนี้
จำไม่ได้เหมือนกันว่ะ ว่าไอ้ต่อมันเล่นยา ไม่เล่นการพนัน หรือเล่นการพนัน ไม่เล่นยา อย่างไรก็ตาม คติพจน์ว่า “เราไม่ควรเหี้ยทุกเรื่อง” นั้น ทำให้มันดูเป็นคนดีแว่บนึง
Nice story!! It is always good to, once in a while, recall our good old days..Love it!!
ง่า..
บันทึกนี้อ่านแล้วรู้สึกดีนะ
(ยินดีที่เราเป็นคนสุดท้ายของความ
ทรงจำในช่วงวัยรุ่นของนายพอดี)
มันส์ดี ..
ชอบ ไอ้จ๋ง ฉายา ไร้คลื่น
แวะมาอ่านเรื่อยๆ 🙂
เยี่ยมครับ
^
ไม่ว่าข้างบนนั้นจะเป็น
บทความดีๆที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้แอบอ่านบันทึกส่วนตัวของคนอื่น
หรือ…
บันทึกส่วนตัวที่เขียนชวนอ่านราวกับบทความชิ้นดี
ขอบคุณที่ให้อ่าน 😉
ทำให้นึกถึงเรื่อง‘พันธ์หมาบ้า’
คนเราในช่วงวัยหนึ่ง , ช่วงที่ใช้ชีวิตแบบสุดๆ ,
มันมีได้ช่วงเดียว, แต่เป็นช่วงที่จดจำและอยู่กับเราไปตลอดชีวิต
เม่นฝาก link หน่อยนะ
Cdthaimovie.com
เพื่อนเม่นคิดราคาพิเศษ
อ่านไป แล้วจินตนาการตาม มีความสุข อมยิ้มได้ทุกที เวลาที่นึกถึง
บันทึกนี้อ่านแล้วมีกำลังใจสู้ต่อไปค่ะเพื่อความฝันของตัวเองค่ะ
คิดๆดูแล้ว การทำสิ่งพิเศษให้พิเศษ ตามมุมมองของเม่น เราก็เข้าใจนะ แต่บางครั้งเราคิดว่า สิ่งพิเศษที่ทำบ่อยๆจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาเนี่ย คนที่เค้าเห็นหรือรับมันมาตลอดก็รู้ว่ามันไม่ใช่สิ่งธรรมดา เพราะไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ อย่างน้อยเค้าน่าจะจำสิ่งพิเศษ(ที่ธรรมดาสำหรับเม่น)ไปได้ตลอดนะ ถ้าเป็นเรา เราคงทำสิ่งพิเศษ (ที่ธรรมดา)นั้นไปตลอดน่ะ
…
เดินทางผ่านมาจากคณะนับสิบปีแล้ว อะไรที่ตกผลึกมั่งแล้วล่ะ เฮ้ย อย่างนี้มันต้องไปก๊งกันซักรอบนะ 55
เจอแล้ว
พวกพี่มีอุดมการณ์กันดีจังเลยครับ
ทำตามที่ตัวเองคิด ไม่สนใจว่าผลจะออกมาเป็นยังไง
ผมคิดกลับไปถึงตอนเรียนเสมอๆ เป็นการกระตุ้นความจำ ก็มีทั้งผิดทั้งถูก มั่วๆกันไป
บางทีก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องที่ตัวเองทำเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นว๊ากเกอร์
แวะมาเยี่ยมครับ
ตอนนี้ตีีหนึ่งที่ผมนั้งอ่าน “คนจนไม่ใช่คนโง่ แต่คนจนก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี ทุกหย่อมหญ้าก็ย่อมมีเรื่องดีและร้ายทั้งนั้น” คมจริง
big thank อ่านแล้วโคตรชอบเลย ทั้งสามภาค มีช่วงชีวิตตอนเริ่มทำงานบ้างไหม ผมเองทุกวันนี้ชีวิตตัวเองยังไปไม่ถึงไหนเลย อยากทำหลายๆอย่างแต่ก็ไม่สำเร็จ ถ้าว่างๆ imenn นายทำบทหนังดีๆสักเรื่องเหอะ อยากดูว่ะ ขอร้องนะนะ
เมื่อไหร่79 นัดกันอ่ะ
โทรบอกมั่ง จุ๊บๆ
แอบมานั่งอ่าน…
ขอบคุณที่เขียนบันทึกดีๆ ค่ะ
ดาวฯ
ผ่านช่วงชีวิตแบบสุดๆมาแบบเหมือนฝัน
ถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองตื่นหรือยัง
หรือว่าแค่ละเมอไปวันๆ
ชอบบล็อกของคุณน้ามากๆ เลยครับ ทำให้ผมได้รู้ถึงคุณค่าของคำว่าเพื่อนอีกเยอะเลย
(ผมเบื่อรูปแบบการเรียนในปัจจุบันนะครับ มีแต่คนแข่งกันเรียน)
😛
มีโอกาสแวะมาอ่านหลายครั้งแล้วไม่ได้คอมเม้นซะที
ชื่นชมในตัวพี่คับผม
ชอบสำนวนในการเขียน(ม๊าก) อ่านแล้วน่าติดตามจังค่ะ