ทรรศนะในเรื่องชะตากรรม

15 มกราคม 2002 00:26 น. บันทึก

จำได้ว่าเคยเขียนเรื่องของชะตากรรม แต่จนแล้วจนรอดก็หาใน หน้าทักทายเก่าๆ ไม่พบ วันนี้มาดูในส่วนที่ Backup ไว้ เลยเจอว่า เราตกหล่นไปข้อความหนึ่ง ซึ่งเขียนไว้สมัยทำค่าย – และไม่ยอมหางานทำซะที

3 เม.ย. 2542

วันก่อน ไปวัดป่ากับพี่สาว (อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ผมยังไม่พยายามจะละทิ้งความเลว หรือ กิเลสอันน่าพิสมัยทั้งหลาย)

ในท่ามกลางความสับสน และหนทางที่เลื่อนลอย ผมคิดว่า สิ่งที่ผมเชื่อมั่น ก็ไม่เลวร้ายนัก

อาจจะไม่ดีงามตามความเห็นของสังคม แต่ผมคิดว่า ชะตาของผม ก็ขึ้นกับ กรรม และชะตาของผม (ลอง recursive ดู จะได้กฏแห่งกรรม ซึ่งสอดคล้องกับ พรหมลิขิต) ดังนั้นก็ไม่เห็นจะต้องรีบร้อนเลย ชีวิตจะมีทางออก และมันจะดำเนินไป

[แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับคำแก้ตัวของวัยรุ่นโง่ๆทั้งหลายที่ว่า “ชีวิตเป็นของกู” แต่การกระทำของผมก็เป็นตามนั้นจริงๆ]


ใน Only love is real (Brian L. Weiss, M.D.) และบางถ้อยคำจากพุทธศาสนา บอกว่า เราผ่านกาลเวลา และ ภพชาติมามากต่อมาก และนานแสนนาน จะมีใครหรือ ที่ไม่เคย ได้เจอกันเลย

ขอบคุณที่โฮมเพจผมมีคนอ่าน

เราอาจจะได้เจอกันแล้ว หรือเราคงจะเจอกัน

(เอ๊ะ หรือไอ้เม่นมันโกง Counter…)

ใครที่รู้ว่าไอ้เม่นมันชอบดูหมอดู (หรือถึงขั้นดูหมอได้พอสมควร) อาจจะประหลาดใจว่า “เฮ้ย มึงจบวิศวะคอมพิวเตอร์นะโว้ย” หรืออาจจะคิดว่า อ๋อ มันเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เพราะในเมืองไทย ส่วนใหญ่แล้ว แม้ไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ค่อยลบหลู่

แต่ความจริง ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องงมงาย หรือเป็นคนละเรื่องกับความรู้ในศาตร์อื่นๆ

มันเป็น Indicator (ตัวชี้บ่ง) ของชะตากรรม

แน่นอน ว่า อาจจะผิด ถูก มั่ว เดา ฯลฯ ตามแต่หมอดูแต่ละคน แต่มันก็เหมือนกับค่า GDP นั่นแล วิธีการคนละแบบ ก็ให้คำตอบคนละแบบ ชี้ถึง”ชะตากรรม” ของประเทศ ไปคนละแบบ

แต่หากอินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่ ชี้ไปทางเดียวกัน มันก็น่าจะถูกต้อง

ความเชื่อในเรื่องของชะตากรรม

ผมคิดว่า ชะตากรรม หรือ พรหมลิขิต หรือ โชคชะตา อะไรก็แล้วแต่ อยู่บนพื้นฐานของสมการ

ชะตากรรม = กรรม + ชะตากรรม

หมายเหตุ : กรรม คือ การกระทำ ทั้งเรื่อง ดี และ ไม่ดี

ซึ่งถ้าคิดแค่ว่า มันเป็นสมการอนุรักษ์นิยม ก็ต้องแก้สมการได้ว่า กรรม = 0 คือ การกระทำนั้นไม่สำคัญ คนเราควรปล่อยชีวิตไปตามโชคชะตา

แต่ผมเห็นว่า มันคือสมการแบบรีเคอซีฟ (Recursive) ซึ่งความรู้ทางคอมพิวเตอร์บอกว่า มันจะทำการย้อนค่าของตัวเองอีกครั้ง

ชะตากรรม = กรรม + ชะตากรรม … (1)

แทนค่า ชะตากรรม = กรรม + ชะตากรรม ลงในสมการ (1) ที่ด้านขวา ได้

ชะตากรรม = กรรม(1) + กรรม(2) + ชะตากรรม

ชะตากรรม = กรรม(1) + กรรม(2) + กรรม(3) + ชะตากรรม

ชะตากรรม = กรรม(1) + กรรม(2) + กรรม(3) + กรรม(4) + ชะตากรรม

ชะตากรรม = กรรม(1) + กรรม(2) + กรรม(3) + กรรม(4) + กรรม(5) + ชะตากรรม

ซึ่งถ้าแทนค่าไปเรื่อยๆ ก็จะได้ว่า ชะตากรรมทั้งมวลของมนุษย์ ก็คือ ผลลัพธ์จากการกระทำของมนุษย์นั่นเอง (กฎแห่งกรรม)

ความเชื่อเรื่องชาติภพ

จากสมการด้านบน หากจะบอกว่า แล้วทำไมคนเราจึงมีต้นกำเนิดชีวิตที่ต่างกัน มีชะตากรรมที่แตกต่างกัน นั้น ถ้าไม่เชื่อเรื่องชาติภพ คงอธิบายลำบาก เพราะเวลาในชาติเดียวมันสั้นนัก ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดผลของกรรมเก่า ได้

แต่ถ้าเชื่อเรื่องชาติภพ ก็จะเห็นว่า เมื่อผ่านไปหลายๆชาติ เกิดปริมาณของกรรมมากๆ มันก็จะกลายเป็นชะตากรรมขนาดใหญ่ (พรหมลิขิต) ที่กำหนดชีวิตของเรา จนยากที่การกระทำเพียงเล็กน้อย จะเปลี่ยนแปลงชะตากรรม(ในอดีต)ได้

(แต่ในนิทานชาดกหลายเรื่อง ก็บอกว่า คนนั้นเปลี่ยนแปลงชะตากรรมได้ แต่หมายความว่า เค้าต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ)

จะเห็นได้ว่า จากความคิดนี้ พรหมลิขิต นั้น สอดคล้อง กับ กฎแห่งกรรม

ความเชื่อเรื่อง บาป บุญ

ไหนๆก็กล่าวถึงความเชื่อแล้ว เห็นควรว่า หากอยากให้อื้อฉาวกว่านี้ ผมคงต้องจาบจ้วงศิลธรรมอันดีด้วย

คำพูดที่อยากกล่าว : ผมไม่เชื่อ เรื่อง บาปบุญ แต่เชื่อเรื่อง กรรม

อธิบาย : ผมไม่ค่อยแยกแยะว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นบุญ หรือ บาป เพราะรู้สึกว่า สังคมมันซับซ้อนขึ้นทุกที สิ่งที่เราทำ ได้ส่งผลกระทบไปสู่อะไรๆอีกมาก มากกว่าที่จะบอกได้ว่า มันเป็นบุญ หรือ บาป

ขนาดคำพูดเก่าๆที่ว่า “ทำอะไรก็ทำไปเถอะ แต่อย่าให้คนอื่นเดือดร้อน” ผมยังคิดเลยว่า แล้วจะทำอะไรเล่า (วะ)

ผมนอนกลิ้งเกลือกอยู่กับบ้าน ก็มีคนเดือดร้อน, ผมพิมพ์อะไรไร้สาระ ก็มีคนเดือดร้อน, ผมซื้อโค้กกิน ในร้านเซเว่น ก็ยังมีคนเดือดร้อน ฯลฯ

ผมเลยคิดว่า จริงๆแล้วสิ่งที่ควรยึดกับมัน คือ กฎแห่งกรรม ต่างหาก นั่นคือ “สิ่งที่ผมทำ ผมจะต้องได้รับ อย่างแน่นอน ไม่ว่ามันจะดี หรือ ไม่ดี” ผมเลยไม่ค่อยแคร์ว่าใครจะเดือดร้อน คิดแค่เพียง “ถ้ามีคนทำอย่างนี้กับกู กูโอเค” เท่านั้นเอง

วันนี้รู้สึกว่า เนื้อหาจะหนักกบาลเล็กน้อย แต่ก็ยังอยากเขียน คงเพราะเมื่อเช้าได้รับแรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง ที่ดันไปตรงกับที่หมอดูหลายคนได้ทำนายไว้ ….

“เม่น เรื่องบางเรื่องนั้น ถ้าชะตากรรมบอกว่าต้องเจอกับมัน เธอก็ต้องเจอกับมัน แม้เธอจะพยายามหนี หรือ จะไม่ให้มันเกิดขึ้นก็ตาม”

นินทากาเลเหมือนเทสุรา เป็นเรื่องธรรมดายิ่งกว่าหายใจ

ขณะที่ไอ้เหลาร่ำสุราฉลองคืนอันปวดร้าว (ที่น้องเต่าแต่งงานกับน้องบี) และเมามายไม่ได้สติ (อันนี้สำนวนนะ มันไม่ขนาดน้าน)

เหมาะแก่การซักถามเบื้องหลังความสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง..

เพื่อนๆ : “เฮ้ย ไอ้เหลา เวลาจีบน้องเค้าเนี่ย มึงจีบยังไงวะ ไปเล่นตลกให้เค้าดูหรอ”

ไอ้เหลา : “ม่ายช่ายโว้ยยย กูรู้น่ะ ว่า การเป็นตัวตลกเนี่ย สาวๆชอบ … ”

”.. แต่เค้าจะไปรักกับพระเอก..”

เพื่อนๆถึงกับอึ้งในปรัชญาอันคมคายของไอ้เหลา (เป็นนัยว่า มันได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน)

แต่กระนั้น ก็ไม่วายถามต่อ

เพื่อนๆ : “งั้น ตกลง มึงจีบน้องเค้าว่ายังไงวะ”

ไม่รู้ด้วยความเมา หรือความใสซื่อ ไอ้เหลาวางท่าเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวประโยคสะท้านทรวง

“กูก็แค่ถามเค้าว่า .. มาเล่นเป็นพ่อ แม่ ลูก กันมั้ยจ๊ะตัวเองงงงง”

ความคิดเห็น

  1. oatzinger พูดว่า:

    อืม……

    หมอดู วิศวะ……

    เท่ห์ดีนะพี่เม่น……

    ฟันธง….ฉัวะๆๆๆๆๆๆ

  2. DaDa พูดว่า:

    สนใจเรื่องกรรมมากตั้งแต่เด็กและที่บ้านักมากคือเรื่องของชาติภพ ไปปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อละกิเลส แต่ต้องการไปหาข้อมูลในการเชื่อเพราะมีความสงสัยในตัวเอง ทำไมถึงเชื่อเรื่องกรรมและชาติภพมาก แต่แค่เข้าวัดอ่านหนังสือธรรมะฟังธรรมไม่พอ เลยตัดสินใจไปเรียนดดวงเพิ่มเติม ถ้ามีอะไรมันส์ ดี ๆ จะเล่าให้ฟัง

  3. 3sso พูดว่า:

    สมการ ชะตากรรม = กรรม + ชะตากรรม

    ชอบมากครับ และก็ตรง “คำพูดที่อยากกล่าว : ผมไม่เชื่อ เรื่อง บาปบุญ แต่เชื่อเรื่อง กรรม”
    ทำให้ผมนึกถึงคำสอนจากแนวทางท่านพุธทาส ที่เกี่ยวกับสุญตาในทำนองที่ว่า จะดีหรือชั่ว (นรกหรือสววรรค์)
    ก็ไม่น่ายึดถือทั้งสองสิ่ง ตรงนี้ ดีน่าจะแทน + ชั่วน่าจะแทน – ได้ ….

    ผมชอบวิธีการหรือแนวคิดพี่เม่นเกี่ยวกับธรรมะ ในมุมมองของคณิตศาสตร์ หรือสมการโปรแกรม
    (จากหลายๆบทความของพี่เม่น) ทำให้นึกถึงหนังสือซุนวูของสำนักพิมพ์หนึ่ง ซึ่งมีการแปลต้นฉบับควบคู่กับคำแปล
    ผู้เขียนมีแนวคิดว่า ตำราของซุนวูไม่ใช่กวี แต่เป็นตรรกสมการ

    โดยส่วนตัวผมเองก็มีแนวคิดนี้กับพุธทศาสนา ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนสมการโปรแกรมมากกว่ารูปลักษณ์ที่เห็นเป็นร้อยกรองในไตรปิฏก อย่างเช่นเรื่องอิทัปปัจจยตาที่กล่าวโดยท่านพุททาส มีลักษณะการพิจารณาไปโดยลำดับ ลำดับเป็นชั้นๆ ไป

  4. PuYisme พูดว่า:

    เจ๋งอะพี่ ชอบตรงสมการ เก็ทมาก

    แต่ชอบสุดๆ คือ “กูก็แค่ถามเค้าว่า .. มาเล่นเป็นพ่อ แม่ ลูก กันมั้ยจ๊ะตัวเองงงงง”