พระเอกแหย

28 กรกฎาคม 2009 02:16 น. บันทึก

พี่ต่อ 74 เขียน บันทึกแนะนำหนังของ GTH เรื่องหนีตามกาลิเลโอ (Dear Galileo) ไว้น่าอ่าน กระผมด้วยความคะนอง จึงเข้าไปตอบ ด้วยทรรศนะที่คล้ายคนดูหนังหลายท่าน (ที่รู้ก็เพราะ ทั่นจ๋ง บอกว่า มีคนคิดแบบนี้เยอะนะ) ว่า

ดูหนัง GTH บ้างตามโอกาส แต่ก็ไม่ได้ขวนขวายนัก สงสัยผมเองจะไม่ค่อยชอบบทที่ตัวเอกเคว้งคว้าง ไม่ตัดสินใจ ไม่แก้ปัญหา ฯลฯ ทั้งๆ ที่ช่วงวัยเด็กวัยรุ่นของชนชั้นกลางก็น่าจะเป็นทั้งนั้น 😀

แต่เรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา ถึงจะรู้สึกว่าตัวเอกไม่ได้ดั่งใจ ก็พบว่าหนังสนุกอยู่ดี เลยคิดว่าเรื่องนี้ก็น่าจะสนุกเช่นกันครับ 🙂

พี่ต่อเลยให้อธิบายเรื่อง “แหย”

เอาเท่าที่ดูและคิดออกนะครับท่านพี่ (มีหลายคนคิดแบบนี้ครับ เรียกว่า แนวพระเอกแหย แต่ผมหาที่อ้างอิงไม่เจอ)

แฟนฉัน

พระเอกนั้นโลเลระหว่างเลือกจะเป็นแฟน (เพื่อน) น้อยหน่า กับการได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อนชาย (เตะบอล/ตัดหนังยาง ฯลฯ) โลเลที่จะบอกรักและตัดสินใจในความสัมพันธ์


เพื่อนสนิท

พระเอกแอบรัก แต่ไม่กล้าเอ่ยปาก แล้วก็หนีปัญหาไปอีกจังหวัด เจอหญิงสาวแอบรัก แต่ไม่กล้าเอ่ยปากอีกคน


ซีซั่นเช้นจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

พระเอกแทบไม่ตัดสินใจอะไรเลย ตั้งแต่เลือกจะเรียนคณะอะไร/เรียนต่ออะไร จะทำวงจริงจังแค่ไหน เลือกจะบอกรักใคร หรือการไม่กล้าบอกว่า ไม่ชอบกินผัก ฯลฯ


ไฟนอลสกอร์ 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอนท์

อันนนี้ชีวิตจริงของเด็กเอนท์ ถือว่าต้องเคว้งคว้างเป็นธรรมดา พ่อแม่อยากให้เอนท์ติด เด็กคงไม่กล้าตัดสินใจเป็นแบบอื่นอยู่แล้ว


สายลับจับบ้านเล็ก

นางเอกยอมเป็นเมียน้อยเผื่อจะได้ซื้อบ้าน ถือว่าตัดสินใจนิดนึงละกัน แต่มันก็เคว้งคว้างและไม่ค่อยแก้ปัญหา ส่วนพระเอกก็เป็นแนวชิว ไหลไปเรื่อย เป็นแนวไม่ค่อยแก้ปัญหาอีกคน


ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น

คู่เด็กผู้ชาย 2 คน กับผู้หญิง – อันนี้ผู้หญิงเป็นแนวโลเลไม่ตัดสินใจ ไม่รู้จะคบใคร จะดูทีวีหรือฟังไอพอด, เด็กมัธยมกรี๊ดดารา อันนี้ปกติละกัน, คู่ผู้ใหญ่ที่เกือบนอกใจ ฝ่ายชายก็แนวโลเลที่ไปกับสาวญี่ปุ่นแล้วอ้ำๆ อึ้งๆ, คู่ผู้ใหญ่แอบรัก อันนี้ชัดเจนมาก ว่าแหย ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่แก้ปัญหา


ที่บอกนี้ ไม่ใช่ว่าหนังเหล่านี้ไม่สนุกนะครับ ก็ดูเพลินทุกเรื่อง เพียงแต่มันสะท้อนบุคลิกชนชั้นกลางไทยมากไปหน่อย แนวๆ ไม่ตัดสินใจ ไม่แก้ปัญหา ปล่อยให้คนอื่นชี้นำ โทษฟ้าดินและทักษิณ เอ๊ย ไม่ช่ายยยยย 😀

ยินดีรับฟังความคิดเห็นท่านพี่ทุกท่านนะครับ

ความเห็น

ความคิดเห็น

  1. ipattt พูดว่า:

    ผมคิดว่าความโรแมนติกมันอยู่ที่ความแหยนี่เองล่ะครับ
    เพราะเราเวลาชอบใครแบบโรแมนติกมักจะแหยกับคนนั้นอยู่จึงต้องเล่นประเด็นนี้
    ถ้าไม่แหยก็จะกลายเป็นหนังโป๊ไปได้ 😛 อ้อ หนังหม่ำก็ไม่แหยอีกนะ

  2. mokin พูดว่า:

    จริงด้วย อย่างนี้ผมก็แสดงเป็นพระเอกได้เลย แต่ไม่ชอบเลยนิสัยแบบนี้

  3. nikumaru พูดว่า:

    แหะๆ
    มาแลกเปลี่ยนความเห็น
    ผมว่า…
    ความไม่ได้ดังใจ หรือขัดใจเราไว้ก่อนก็เป็นรูปแบบอย่างนึงที่พบได้บ่อยในการเล่าเรื่องในหนังนะครับ
    จะได้ใส่จุดเปลี่ยนให้ตัวละคร หรือเนื้อเรื่องได้
    แล้วส่งผลกระทบทางอารมณ์กับคนดูได้ในตอนท้าย อะไรราวๆ นั้น
    (คงเหมือนหนังผี หนังสยอง ที่ทำไมต้องโง่เดินไปเปิดประตู เปิดหน้าต่าง เป็นต้น)

    อีกอย่าง
    ผมว่าคนรุ่นเราๆ หรือใกล้เคียงก็ถูกปลูกฝังมากับพระเอกหรือตัวนำชายแหยๆ
    มาตั้งกะโดราเอม่อนทางช่อง 9 แล้วด้วยมังครับ
    เหอๆ

    เพิ่มเติม:
    ในแง่หนัง GTH
    ผมกลับติดเรื่องความซ้ำและใกล้กันมากไปของพล็อต อารมณ์ และรวมไปถึงหน้าตาของหนังมากกว่าครับ
    มันเลยไม่มีอะไรเด่นขึ้นมาเท่าไหร่ในงานช่วงหลังจาก แฟนฉัน และ อากาศเปลี่ยนฯ

  4. pY พูดว่า:

    กับความรัก
    ไม่เคยชำนาญ
    แหยเสมอ

  5. ฅนหลังเขา พูดว่า:

    ลองกลับไปคิดอีกนิด เรื่องการตัดสินใจ บางเรื่องเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก

    ขอเสนอมุมมอง จากหนังเรื่องแฟนฉัน

    พระเอกโลเลระหว่าง เพื่อน กับแฟน ตามที่คุณเม่นว่าไว้นั้น บังเอิญมันเป็นจุดหักเหของหนังพอดี เลยต้องออกมาแนวนี้

    ความจริง : หนังเรื่องนี้ค่อนข้างเหมือนโลกของความจริงมากๆ ผมว่า 90% ต้องตัดสินใจแบบในหนัง อีก 10% ของผมซึ่งคิดว่าน่าจะมีคือ พระเอกสานความสัมพันธ์ของเด็ก 2 กลุ่มให้มาเล่นด้วยกัน ฮิฮิ

    เพื่อนกับแฟน เลือกอะไร ก็พาแฟนไปรู้จักเพื่อนหรือพาเพื่อนไปรู้จักแฟน ไม่ได้หรือ

    ผมไม่ใช่คอหนังเท่าไหร่ ขอแจมนิดๆละกัน ส่วนเรื่องอื่น ขอดูอีกรอบจำไม่ได้ จำได้แต่โซระ อาโออิ